- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
3 มี.ค. 2559
ในพรรษาที่สอง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ซึ่งทรงประทับมากที่สุด พอกันกับเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี และเป็นสถานที่แสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนนิทานชาดกมากที่สุด
ตามเส้นทางของเรา หลังจากลงจากเขาคิชกูฏ เราต้องผ่านวัดป่าสวนมะม่วงของท่านหมอชีวกโกมารภัจ ซึ่งสองพันห้าร้อยปีผ่านไป ก็เหลือเท่าที่เราเห็น ต้องใช้ใจดูถึงจะเห็น แล้วก็อาจผ่านหลายแห่ง เช่น ลัฏฐิวัน อุทยานหลวง ที่มีต้นตาลน้อยใหญ่ เป็นสถานที่ที่พระเจ้าพิมพิสารได้ประกาศถึงความปรารถนาของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงเป็นราชกุมารว่า
๑. ขอให้ได้เป็นกษัตริย์แคว้นมคธ
๒. ขอให้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เอง ได้เสด็จมายังแคว้นของพระองค์
๓. ขอให้ได้เฝ้าพระอรหันต์พระองค์นั้น
๔. ขอให้ได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์พระองค์นั้น
๕. ขอให้ได้บรรลุธรรมที่พระอรหันต์พระองค์นั้นแสดงแก่พระองค์
และบัดนี้ พระองค์ก็ได้บรรลุความปรารถนานั้นแล้ว หลังจากนั้น จึงทูลเชิญพระพุทธองค์เสด็จสู่ เวฬุวัน
เมื่อรถวิ่งก่อนถึงเวฬุวัน ทางด้านตะวันออกที่รถวิ่งผ่าน จะเห็นสถูปหินที่เรียงซ้อนเป็นชั้นๆ มีการสันนิฐานว่า เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ โดยพระเจ้าอชาติศัตรูนำมาจากพวกมัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา
ณ เวฬุวันมหาวิหาร ผ่านไปสองพันห้าร้อยปี เหลือเพียงร่องรอยของความร่มรื่น ความงามตามบรรยายอาจพอมีเค้า แต่ที่แน่ๆ มีพระอรหันต์และเรื่องราวสำคัญๆ และเกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญในพุทธศาสนา ที่เราไม่ควรพลาดที่จะน้อมระลึกถึง
พระกิมพิละ พระอนุรุทธะ พระภัคคุ พระอุบาลี ต่างก็บรรลุอรหัตถผลในพรรษานี้ที่เวฬุวันวิหาร ในขณะที่พระเทวทัตได้แต่โลกียฌาน จึงเกิดเรื่องราวขึ้นมากมายกับความไม่เข้าใจของภูมิธรรมที่แตกต่างกัน
ในกรุงราชคฤห์ มีเรื่องราวของพระอินทร์ที่เราควรรู้ว่า ที่อยู่ของมาฆะมานพ คือ บ้านอจลคาม แคว้นมคธ นี่เอง ที่ถือข้อวัตรทั้งเจ็ดอย่างเคร่งครัด
๑. บำรุงบิดามารดา
๒. ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
๓. พูดคำสัตย์
๔. ไม่พูดคำหยาบ
๕. ไม่พูดส่อเสียด
๖. กำจัดความตระหนี่
๗. ไม่โกรธ
จดจำไว้ให้ดี อย่างน้อย ก็ไปรอกันที่ชั้นเดียวกับพระอินทร์ มาฆมานพ หรือ พระอินทร์ในกาลต่อมานี้ ได้ทำสาธารณะประโยชน์ สร้างทาง ศาลา ให้คนเดินทาง มีจริยาวัตรเป็นที่รักของคนทั้งหลาย ต่อมาถึงได้เป็นผู้บริหารชั้นดาวดึงส์
พวกเราคงมีอานิสงค์จากการประพฤติปฏิบัติคล้ายๆอย่างนี้ ถึงได้เป็นผู้บริหารในองค์กรไปตามๆกัน และถ้ารักษาและปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นไป ก็จะได้ไปบริหารชั้นดาวดึงส์ด้วย แต่อาจรอคิวนานหน่อย
เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ เวฬุวันมหาวิหาร มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ในที่นี้ จะขอเลือกที่จะเล่าเป็นเรื่องๆไป เมื่อเราไปถึงที่เวฬุวัน เราจะได้สงบใจย้อนระลึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล
บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อ อุคคเสนะ เป็นบุตรคฤหบดี ชาวกรุงราชคฤห์ มีฝีมือแสดงศิลปะที่ฝึกมาจากบิดาของภรรยา ได้ป่าวประกาศว่าอีก ๗ วัน จะแสดงศิลปะแก่ชาวพระนคร พระพุทธองค์ทรงตรวจดูสัตว์โลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงดำริว่า ถ้าได้แสดงธรรมในชุมชนนั้น การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์มากมาย แม้อุคคเสนะก็จักตั้งอยู่ในพระอรหันต์
วันรุ่งขึ้น อุคคะเสนะได้ขึ้นสู่ไม้แป้นสูง แล้วตีลังกาในอากาศสิ้น ๗ ครั้ง พระพุทธองค์ส่งพระโมคคัลลานะไปบอกอุคคเสนะว่า เชิญท่านทำความยินดีแก่บริษัทเถิด อุคคเสนะมีความยินดี จึงตีลังกาอีก ๑๔ ครั้ง แล้วลงมายืนบนแป้นไม้ตามเดิม
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสว่า อุคคเสนะ ธรรมดาบัณฑิต พึงเปลื้องความอาลัยในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จึงจักพ้นจากทุกข์ มีชาติเป็นต้น
อุคคเสนะยืนอยู่บนปลายไม้ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ลงจากแป้นไม้มาสู่พระศาสดา หมอบลงกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา และการบรรลุธรรมได้มีแก่มหาชนเป็นจำนวนมาก
พวกเราคงสงสัยว่า ธรรมใดหนอ ที่ทำให้อุคคเสนะ ผู้กำลังอยู่ระหว่างแสดงศิลปะได้บรรลุธรรม บางที อุคคเสนะมีอุปนิสัย มีความคิด ที่พร้อมจะถึงธรรม พระพุทธองค์ทรงทราบดีว่าจะเทศนาเรื่องใดให้ตรงจริต เช่น อุคคเสนะอาจมองเห็นความเสื่อม ความไม่แน่นอน และความไม่เที่ยง อยู่ตลอดเวลาที่ดำเนินชีวิตอยู่กับภรรยา และการประกอบอาชีพตามที่ถนัด เสมือนเติมน้ำลงในแก้ววันละน้อย จนถึงวันที่ได้สดับพระธรรมอันเป็นบทสรุปก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ตรงจริต และเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถึงธรรม จึงบรรลุจบกิจทางโลกได้ทันที
ดังนั้น หากเราไม่หัดกำหนดรู้หรือใคร่ครวญพิจารณาธรรมระหว่างการดำเนินชิวิตประจำวัน เราจะคาดหวังว่าจะบรรลุธรรมทันทีเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นฐานหรืออุปนิสัยของการบรรลุธรรมซึ่งเกิดจากการสั่งสมและพิจารณาใคร่ครวญธรรมมาโดยสมำเสมอ เราจึงควรปฏิบัติและใคร่ครวญพิจารณาธรรมนับแต่วันนี้เป็นการสั่งสมบารมีธรรม
ขออธิบายเพิ่มเติมของคำว่า ปฏิสัมภิทาญาน คือ ความแตกฉาน ๔ ประการ ได้แก่
๑. อัตถปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในผล
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในภาษา
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในปฏิภาณ
และผู้ที่บรรลุอรหัตผล ก็จะต้องพร้อมด้วย วิโมกข์ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจของสมาบัติ ๘ ประการ คือ
รูปาวจรสมาบัติ ๔ ได้แก่ รูปฌาณ มีปฐมญานเป็นต้น
อรูปาวจรสมาบัติ ๔ ได้แก่ อรูปฌาณ มี อากานัญจายะตนะ เป็นต้น
และถึงพร้อมด้วย อภิญญา คือความรู้ยอดยิ่ง ๖ ประการ ได้แก่
๑. อิทธิวิธิญาน คือญานที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆได้
๒. ทิพพโสตญาณ ญาณที่ทำให้หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่กำหนดใจผู้อื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุญาณ ญาณที่ทำให้ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
ถ้าเราตั้งใจที่จะบรรลุธรรมและตั้งใจที่จะเป็นชาติสุดท้าย ลองพิจารณาคุณสมบัติของพระอรหันต์ด้วย
คำว่า ปฏิสัมภิทาญาน มีความหมายขั้นหยาบสำหรับคนธรรมดาอย่างเราที่จะก้าวสู่ที่สุดของการบรรลุธรรม คือ ต้องเป็นพหูสูตร พยายามเรียนรู้ให้แตกฉานในเหตุและผล ไม่ทำอะไรที่ไร้สาระ ไม่เป็นเรื่องเป็นราว หรือ สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ต้องศึกษาธรรมด้วยการอ่านและฟังให้มาก ทั้งรอบรู้เรื่องราวต่างๆ และมีปฏิภานในการแก้ปัญหา คือ สร้างปัญญาด้วยการฝึกสมาธิ ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนอย่างจริงจัง เสมือนเตรียมคุณสมบัติของการบรรลุธรรมนั่นเอง