- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
3 มี.ค. 2559
เรื่องที่น่ารู้อีกเรื่องที่เกิดขึ้น ณ เวฬุวันมหาวิหาร เป็นเรื่องของ พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ที่ไม่ได้ชื่อว่าอชาติศัตรู แต่มีนามว่า อภัยราชกุมาร ซึ่งขณะนั้นเป็นศิษย์ของนิครนถนาฏบุตร ได้กราบทูลนิมนต์ พระพุทธองค์เสวยภัตตาหารในนิเวศน์ของตน เพื่อกราบทูลถามปัญหา โดยหวังว่าพระองค์จะตอบไม่ได้ ว่า พระพุทธองค์เคยตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่นบ้างหรือไม่
ด้วยคำถามนี้ เราท่านทั้งหลายคงตอบได้ทันทีว่า เคย และบ่อยด้วย แต่พระพุทธองค์ตรัสตอบเป็นธรรมว่า
๑. วาจาใดไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่พอใจของบุคคลอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
๒. วาจาใดไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่พอใจของบุคคลอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
๓. วาจาใดจริง ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่พอใจของบุคคลอื่น ตถาคตรู้เวลาที่จะกล่าววาจานั้น
๔. วาจาใดจริง ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่พอใจของบุคคลอื่น ตถาคตจึงจะกล่าววาจานั้น
เป็นความละเอียดในเรื่องของวาจา ที่ต้องมีสติและปัญญาอย่างยิ่งในการแยกแยะลงในรายละเอียด ที่เราทั้งหลายสมควรมีสติอย่างยิ่งก่อนที่จะกล่าวสิ่งใด แม้กระทั่งการกล่าววาจาให้ "เป็น" ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการสร้างสติในรายวัน บางครั้งเราจะพูดอะไรกับใคร คงไม่ใช่เพราะความพอใจ สะใจ หรือสงสารตัวเองอย่างเดียว ต้องประกอบไปด้วย ความจริง เป็นประโยชน์ และต้องเป็นที่พอใจด้วย เราจึงต้องเป็นผู้ที่มีสติอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่เพียงกายและใจ แต่ต้องมีสติในเรื่องของวาจาด้วย อย่างนี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ ก่อน และ ดำริ คือ ใจ และไป วาจาชอบ สามข้อแล้วในมรรคมีองค์แปด ยิ่งเพิ่มความพยายามที่จะมีสติในการเอ่ยวาจา ก็เพิ่มอีกสองข้อ คือ สัมมาวายาโม และ สัมมาสติ เห็นไหมคะ มรรคไปห้าแล้ว ถ้าถึงมรรคแปดโดยเคร่งครัด ก็จะพาไปหา ผล โดยง่าย ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล จึงมีผู้บรรลุมรรคผลโดยง่าย ด้วยมรรคมีองค์แปดนี่เอง
ดังนั้น เมื่ออภัยราชกุมารได้สดับคำวิสัชชนาแล้ว ก็ปฏิญานตน ขอถึงพระพุทธ พระธรรม และอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอเป็นอุบาสกตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
เช้าวันหนึ่งพระพุทธองค์ประทับ อยู่ ณ เวฬุวันวิหาร ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ อันเป็นปรกติที่พระพุทธองค์จะตรวจดูอุปนิสัยว่าใครจะบรรลุธรรมในวันนั้น ทรงทอดพระเนตรเห็น สิงคาลกบุตร กำลังนอบน้อมบูชาทิศทั้งหลายตามคำสั่งบิดา เรื่องราวตอนนี้ เราคงเคยได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง เรื่องการบูชาทิศทั้งหกอยู่แล้ว ในวันนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสสอน สิงคาลกบุตร และทำให้มหาชนผู้ได้ยินได้ฟังเป็นจำนวนมากได้บรรลุธรรม จะขอทบทวน พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่มีต่อสิงคาลกบุตรดังนี้
หลังจากที่ทรงแสดงถึง ความเสื่อมของชีวิตด้วยอบายมุขทั้ง ๖ ได้แก่ เป็นนักเลงสุรา ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านในการงาน แล้วทรงตรัสถึง ความนอบน้อมทิศทั้งหก ว่า
มารดาบิดา เป็นทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก
อาจารย์ เป็นทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้
บุตรภรรยา เป็นทิศเบื้องหลัง คือทิศตะวันตก
มิตร อำมาตย์ เป็นทิศเบื้องซ้าย คือทิศเหนือ
ทาส กรรมกร เป็นทิศเบื้องต่ำ
สมณพราหมณ์ เป็นทิศเบื้องบน
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ทิศทั้งหลายในวินัยของพระอริยเจ้าที่ควรน้อบน้อม ถ้าปฏิบัตินอบน้อม จะมีความเจริญไม่เสื่อม ซึ่งมีความหมายถึงหน้าที่ที่พึงกระทำตามตำแหน่งต่างๆนั่นเอง
ที่กรุงราชคฤห์ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของท่านหมอชีวกโกมารภัจ แพทย์ประจำพระองค์ พระเทวทัต ที่คอยปองร้ายพระพุทธเจ้าไม่เลิก ถึงขนาดว่าจ้างนายพรานขมังธนูมายิงพระพุทธเจ้า ปล่อยช้างนาราคีฬี ยังมีเรื่องราวของ พระเจ้าอชาติศัตรู ที่กระทำปิตุฆาต และ การแตกแยกของสงฆ์ โดยการนำของพระเทวทัต
สังเกตได้ว่า อนันตริยกรรม ล้วนเกิดขึ้นที่นี่ ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ที่หลังจากพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ราชคฤห์ ถึงเสื่อมลง ไปเจริญที่ปาฏลีบุตรตามพุทธทำนาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์
อีกเรื่องหนึ่งที่สนุก คือเรื่องราวของ นางสิริมา ธิดาของสาลวดีคณิกา และเป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุโสดาบัน ได้นิมนต์พระภิกษุถวายนิตยภัตในเรือนประจำ ภิกษุผู้ได้ยินกิติศัพท์ความงามของนาง ก็มีความหลงไหลทั้งที่ไม่เคยเห็น จนไม่เป็นอันเจริญสมณธรรม ต่อมาเมื่อนางทำกาละ คือ ถึงแก่ความตาย ไปบังเกิดเป็นเทวีของท้าวสุยามะในยามาภพ
พระศาสดาเห็นประโยชน์ในการร่วมพิธีเผานางสิริมาที่จะมีต่อมหาชน จึงให้พระเจ้าพิมพิสารป่าวประกาศให้มาชุมนุมพร้อมกัน พร้อมทั้งภิกษุรูปนั้นด้วย โดยทรงแสดงให้เห็นในลักษณะสังขารที่ขึ้นอืดพอง พิจารณาเป็นอสุภะกัมมะฐาน ปรกตินางมีค่าตัวถึง ๔๐๐๐ กหาปนะ แต่ในวันนั้น แม้หนึ่งกหาปณะ ก็ไม่มีใครรับเอาไป
พระพุทธองค์ทรงแสดงถึง ร่างกายที่ประกอบด้วย เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก เลือด เนื้อ เป็นของไม่เที่ยง ถูกทิ้งในป่าช้าดุจท่อนไม้ไร้ประโยชน์ ญาติทั้งหลายไม่ห่วงใย อันปุถุชนทั้งหลายปราศจากปัญญา ย่อมไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ในเวลานั้นเมื่อจบเทศนา มีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก
ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เป็นสถานที่เสมือนอยู่คู่กับพุทธประวัติ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ณ วิหารแห่งนี้ แม้การที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาติให้สร้างเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนหนึ่งชั้น เรือนโล้น และ ถ้ำที่สร้างขึ้น เพื่อให้ภิกษุมีที่พำนักถาวร ก็เกิดขึ้นที่นี่เมื่อ ราชคหเศรษฐีเป็นผู้ขอสร้างเสนาสนะถวาย
และทรงตรัสว่า “ การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อเร้นอยู่ เพื่อเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญการถวายเสนาสนะแก่สงฆ์ว่าเป็นทานอันเลิศ”
ทรงอนุญาตเภสัช ๕ ชนิด คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เพื่อให้ภิกษุฉันยามอาพาธ
มีเรื่องเล่า ซึ่งจะเกี่ยวกับสถานที่ที่เราต้องเดินทางระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา ที่นั่นคือ อัมพลัฏฐิกา อันเป็นที่ประทับของพระราหุล เพื่อโปรดประทานเทศนา มีใจความสำคัญว่า
“ ดูกร ราหุล เมื่อเธอจะทำกรรมใดด้วยกาย วาจา และใจ เธอพึงตรวจตราพิจารณาว่า กรรมใดเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กรรมนั้นเธอไม่ควรทำ ส่วนกรรมใดทำแล้ว ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก เธอพึงมีปิติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมนั้นทั้งกลางวันกลางคืนเถิด”
ธรรมะง่ายๆ ที่ทรงประทานแก่พระราหุล พวกเราก็สามารถน้อมนำมาปฏิบัติ กำหนดจิตรู้ถึงการกระทำของเราให้เป็นกุศลอย่างนี้ เท่ากับเราชำระจิตอยู่เสมอๆเหมือนกัน
ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปทักขิณาคีรีชนบท ทอดพระเนตรเห็นแปลงนาของชาวมคธ พูนดินยกคันนาเป็นตารางสี่เหลี่ยม ทั้งด้านยาวและด้านกว้าง จึงรับสั่งให้พระอานนท์ทำการตัดแต่งจีวรให้เป็นรูปตารางสี่เหลี่ยม ดังเช่นแปลงนาของชาวมคธ และทรงอนุญาติให้ใช้ ผ้าสามผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว ๑ จีวร ๑ สบง ๑
ต่อมาทรงอนุญาติ ไตรจีวร ผ้าสังฆาฏิสองชั้น ๑ จีวร ๑ สบง๑ ทั้งนี้ให้ภิกษุป้องกันความหนาว
จะเห็นได้ว่า ที่ราชคฤห์ และ ณ เวฬุวันวิหาร นี้ เป็นที่กำเนิดวินัยสงฆ์สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
การที่ทรงมีเครื่องแบบสงฆ์นั้น เป็นไปเพื่อตัดความฟุ้งปรุงแต่งในเรื่องของวรรณะ ทั้งเป็นระเบียบวินัยเดียวกัน ไม่แยก ชนชั้น วรรณะ ไม่แข่งขันการแต่งกาย สร้างวินัยที่เป็นไปในทางเดียวกัน ทั้งทรงบัญญัติวัสดุด้วยว่า เป็นจีวรที่ทำด้วยเปลือกไม้ ทำด้วยไหม ทำด้วยขนสัตว์ ทำด้วยป่าน และทำด้วยของที่เจือกัน
พระสงฆ์จีน ถือตามแบบคันนาแคว้นมคธ พระสงฆ์ไทยล้านนา เป็นสีเปลือกไม้ ดังนี้ ถือว่าไม่ผิดวินัย
ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงประทับที่ถ้ำอินทสาละ ทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์ ทรงแก้ปัญหาของท้าวสักกะที่ทูลถามว่า “เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์ทั้งหลาย มีอะไรเป็นเครื่องผูกพัน” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ มีความริษยา ตระหนี่เป็นเครื่องผูกพัน”
ขออธิบายว่า เมื่อเหล่ามนุษย์ทั้งหลาย เป็นต้น มีความรัก และ ไม่เป็นที่รัก มีอารมณ์สอดส่ายเปรียบเทียบ ดังนี้ ความริษยา หวงแหนตระหนี่ ย่อมเกิด ถ้าปราศจากอารมณ์เหล่านี้ ความริษยา ตระหนี่ ไม่เกิด ความผูกพันก็ไม่มี น่าคิดนะคะ ถ้าเราคิดว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ก็ปฏิบัติสั้นๆง่ายๆ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่รัก ไม่ผูกพัน
สั้น...ง่าย.. แต่ยาก
คงอยากรู้จักท้าวสักกะ ขอตอบว่า ท้ายสักกะคือ พระอินทร์ ชาติก่อนก็คือ มฆมานพ ที่สมาทานวัตรบท ๗ ประการตลอดชีวิต
เลี้ยงบิดามารดาตลอดชีวิต
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
พูดจาอ่อนหวานตลอดชีวิต
ไม่กล่าววาจาส่อเสียดตลอดชีวิต
มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละและแจกจ่ายทานตลอดชีวิต
พูดแต่ความสัตย์ตลอดชีวิต
ไม่พึงโกรธตลอดชีวิต
เรามีใกล้เคียงไหมคะ และที่น่ารู้คือว่า มฆมานพผู้นี้ เป็นชาวบ้านอจลคาม แคว้นมคธนี่เอง และต้องไม่ลืมด้วยว่า พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ก็เป็นชาวมคธ เหมือนกัน แต่อยู่บ้านนาลันทะ ไม่ไกลจากราชคฤห์นี่เอง
มีอีกนะคะ พระปิณโฑลภารทวาชะ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลแห่งกรุงราชคฤห์ ผู้แสดงปาฏิหารย์ขึ้นไปปลดบาตร แล้วถือบาตรเวียนรอบกรุงราชคฤห์ ๓ รอบ และต่อมาพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ เป็นอุตริมนุสธรรม แปลว่า ธรรมอันยอดยิ่งของมนุษย์ แก่คฤหัสถ์
โปรดทวนอีกครั้งนะคะ ว่า อุตริมนุสธรรม แปลว่า ธรรมอันยอดยิ่งที่ห้ามแสดงแก่คฤหัส ไม่ใช่ อวดธรรมที่ไม่มีในตน อันนั้นแปลผิด ทรงบัญญัติข้อนี้เพราะทรงเห็นว่า ไม่เกิดประโยชน์ในอันที่เหล่าชนจะได้รู้ธรรม เพราะจะมาติดในฤทธิ์ ขอโน่นขอนี่โดยไม่รู้จักคำว่าเพียรพยายาม หรือใช้ปัญญาของตน