เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - นาลันทา
17 มี.ค. 2559

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, นาลันทา

 

เราเดินทางสู่นาลันทาซึ่งอยู่ในเขตแคว้นมคธ และเป็นเมืองสำคัญที่พระเถระเจ้าถือกำเนิดและมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นที่นี่ จัดเป็นเมืองนักปราชญ์ มีกระแสตกทอดมาถึงสมัยพระสงฆ์เสวียนจัง หรือพระถังซำจั๊งที่เรารู้จักกัน เพราะเป็นสถานที่ที่ท่านมาจำพรรษาและศึกษาพระธรรมเป็นเวลานับสิบปี และปัจจุบันก็คือ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในทางพุทธศาสนาด้วย

 

เมืองนาลันทาเคยเป็นศูนย์กลางของศาสนาชิน ซึ่งคู่กับเมืองเวสาลีมานาน เดิมชื่อนาลันทคาม เป็นมาตุภูมิของ ๒ พระอรหันต์ คือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ อัครสาวกของพระพุทธองค์ มีเรื่องราวสำคัญที่ควรรู้ คือ เกี่ยวกับท่านเศรษฐีปาวาริกะ เป็นที่มาของการตรัสพระสูตร ปาวาริกสูตร

 

ปาวาริกเศรษฐี ผู้มีความตระหนี่เป็นเลิศ มีอาชีพค้าขายผ้าขนสัตว์ เมื่อฟังธรรมจากพระบรมศาสาแล้ว บังเกิดความเลื่อมใส สร้างวิหารถวาย ณ ปาริกอัมพวัน ประกอบด้วยกุฏี ที่หลีกเร้น และมณฑป เป็นต้น ไว้ในอุทยานนั้น กล่าวกันว่า ได้แก่โบราณสถานของเมืองนาลันทาในขณะนี้

 

ณ ปาริกอัมพวันนี้ เป็นสถานที่ที่พระสารีบุตรเข้าเฝ้ากราบทูลว่า "...สมณะ หรือพราหมณ์อื่น จะมีปัญญาเครื่องตรัสรู้เทียบเท่าพระพุทธองค์นั้น มิได้มี จักไม่มีในโลกนี้"

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เธอไม่มีเจโตปริยญานในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เหตุไรเธอจึงกล้ากล่าวอาสภิวาจา คือ คำประกาศว่า พระพุทธองค์เป็นเอกในโลกนี้"

 

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ".........ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาน ย่อมรู้จักการถือเอา โดยนัย ที่คล้อยตามธรรม รู้ตามกระแสธรรม ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่มีมาในอดีตกาล ที่จักมีมาในอนาคตกาล แม้มีแล้วในปัจจุบันทุกองค์ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ทรงมีพระหฤทัยตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริงแล้ว จึงได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาน"

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดีละ สารีบุตร เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงกล่าวธรรมปริยายนี้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นนิตย์ ด้วยว่าโมฆบุรุษเหล่าใด ที่ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในตถาคต โมฆบุรุษเหล่านั้นจักละความเคลือบแคลง สงสัย เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ของเธอ"

 

พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวก มีความเข้าใจในความเป็นไปของพระพุทธเจ้า และได้ทำหน้าที่ให้พุทธบริษัทสี่และชนอื่นๆหมดความสงสัยในพระพุทธองค์ด้วยปัญญา

 

ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ปาวาริกอัมพวันนี้ นายบ้านชื่อ อสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าแล้วทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์สามารถช่วยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อสิ้นชีพแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้หรือไม่  คำตอบของพระพุทธองค์เป็นพุทธพจน์ ที่เราควรทำความเข้าใจอย่างยิ่งว่า

 

"บุรุษในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌามีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว พึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า บุรุษนี้เมื่อสิ้นชีพไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุการสรรเสริญ เพราะประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นได้หรือ  ดูก่อนนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก มหาชนแม้จักช่วยกันสวดวิงวอน ประนมมือสรรเสริญรอบสระน้ำนั้น ขอให้ก้อนหินลอยขึ้นมา ก้อนหินนั้นจะพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้นได้หรือไม่ ก็บุคคลที่ประพฤติในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น เมื่อสิ้นชีพไปพึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาตนรก เท่านั้น "

 

ที่ยกความละเอียดตอนนี้มา เพื่อให้เห็นว่า พระบรมศาสดาทรงแสดงเหตุว่า บุคคลใดจะเข้าสู่สุขคติ หรือสู่ทุคติวินิบาตนั้น ด้วยการกระทำของตนเอง ไม่สามารถจะพึ่งพาแม้แต่พระพุทธองค์ หรือแม้แต่เอาแต่ท่องบ่นสวดวิงวอน และการกระทำอันเป็นกุศลนั้นต้องประกอบด้วยมรรคมีองค์แปด จึงจะมีผลอย่างแน่นอน

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, นาลันทา, หลวงพ่อดำ

 

พวกเราจะได้นมัสการหลวงพ่อดำ ซึ่งต้องอธิบายเพื่อความนอบน้อมสักการะ

 

ถ้าจะกล่าวถึงพระพุทธรูปที่เราจะไปนมัสการ ต้องย้อนถึงพระพุทธรูปที่เราได้สักการะ ณ เวฬุวันวิหาร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน นั้นเป็นสถานที่ที่พุทธศานิกชนทุกสารทิศมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา แต่พระพุทธรูปองค์ยืนนั้น เป็นพระพุทธรูปจำลอง เพราะองค์เดิมที่สร้างสมัยแห่งราชวงศ์ปาละประมาณพ.ศ. ๑๒๐๐ -๑๖๐๐ ตั้งแต่สมัย พระเจ้าเทวปาละ พระเจ้ามหิปาละ พระเจ้าธัมมปาละ ซึ่งปกครองแคว้นมคธ และเบงกอล พระองค์เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดและศรัทธาอย่างสูงต่อพระพุทธศาสนา ทรงให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยนาลันทา โอทันตบุรี วิกรมศิลา จนรุ่งเรือง มีพระภิกษุศึกษาที่มหาวิทยาลัยนี้มากมาย ทั้งที่มาจากต่างประเทศด้วย นอกจากนั้น ยังโปรดให้สร้างพระพุทธปฏิมา ทำจากหินดำเนื้อละเอียด ไปประดิษฐานไว้ตามวัดและสถานที่สำคัญๆต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ พระพุทธรูปยืนประทานพร ปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ความสูง ๕๗ นิ้ว ได้โปรดให้นำมาประดิษฐานไว้ที่อารามเวฬุวัน แต่เมื่อสิ้นราชวงศ์ปาละ พุทธศาสนาถูกทำลาย ไม่มีใครดูแลรักษา ในปี พ.ศ ๒๕๑๕ มีคนร้ายแอบไปลักลอบขนย้ายไปจำหน่ายให้ต่างชาติ แต่ชาวบ้านก็ช่วยติดตามจนพบ นำกลับคืนมา ปัจจุบัน พระพุทธรูปจึงประดิษฐานอย่างถาวรที่สถานีตำรวจพิหารชารีฟ ส่วน ณ เวฬุวัน นั้นพุทธบริษัทชาวอินเดียได้สร้างจำลองไปประดิษฐานแทน

 

ส่วนหลวงพ่อองค์ดำที่เราไปน้อมสักการะ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ สูง ๗๐ นิ้ว กว้าง ๕๘ นิ้ว สร้างโดยพระเจ้าเทวปาละ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปาละ ราว พ.ศ. ๑๓๕๓ เพื่อประดิษฐานไว้ภายในมหาวิทยาลัย จนเมื่อกองทัพมุสลิมเตริ์ก เข้าโจมตีนาลันทา ราว พ.ศ. ๑๗๖๖ ท่านจึงจมอยู่ในกองดินยาวนานถึง ๗๐๐ ปี จนมาค้นพบในภายหลัง แต่แรกเริ่ม ท่านนั่งตากแดดตากฝนอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัย ต่อมาจึงมีผู้มีจิตศรัทธาสร้างหลังคาด้วยสังกะสี และก่ออิฐรอบเป็นสามด้าน

 

ยังมีพระพุทธรูปองค์ดำองค์ที่สอง นับเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในบริเวณแถบนาลันทานี้ เพราะมีรัศมีด้านหลังมีการแกะสลักทำเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติที่สวยงามยิ่ง และที่สำคัญองค์ท่านยังสมบูรณ์ดี ไม่ถูกทำลาย ในบริเวณที่ประดิษฐานอยู่ สมัยก่อนเรียกว่า รุกขมินิสถาน

 

พระพุทธรูปองค์ดำองค์ที่สาม เรียกว่า อาทิพุทธะ หมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ปฐม หรือองค์แรก เมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๐ ชาวพุทธนิกายมนตรยาน ได้สร้างพระอาทิพุทธขึ้นมาเพื่อสักการะเสมือนพระผู้สร้างโลกของฮินดู และเป็นองค์แรกเริ่มพุทธวงศ์ ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดมันดีร์ และที่วัดนี้ มีรูปปั้นพระโพธิสัตว์มากมาย

 

ถึงตอนนี้ พวกเราคงทราบแล้วว่า ท่านอาทิพุทธะ คือ อมิตภะแห่งแดนพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นถึงแดนอมิตภะ ที่พระสงฆ์จีนเสวียนจังนำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีน เพราะแต่โบราณ นับถือ พระกวนอิม พระฝู่เสียน และพระมัญชุศรี อยู่แล้ว และนิกายมนตรยาน ก็คือ ฝ่ายมหายาน ในประเทศจีนในเวลาต่อมา

 

ถ้าเปรียบเทียบว่าเป็นบริษัท เพื่อทำความเข้าใจให้ง่ายขึ้น นี่คือ บริษัท มหายาน มีพระอาทิพุทธะ หรือ อมิตภะ เป็นประธาน พระโพธิสัตว์ คือผู้บริหารตามความถนัด และมีกลุ่มคนที่ช่วยงานให้งานที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้สำเร็จด้วยดี และเราก็ได้มาเห็นหลักฐานของต้นกำเนิดบริษัทของเราในยานลำใหญ่นี้

 

พระพุทธรูปองค์ดำอีกองค์ ที่ติตราวัน องค์นี้ประดิษฐานอยู่ไกลจากนาลันทา ๒๗ กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านปาวาบุรี และจากปาวาบุรี อีก ๗ กิโลเมตร จึงจะเข้าสู่หมูบ้านติตราวัน หรือเตตราว่า ที่นี่คนไทยมาสักการะมาก จัดเป็นพระพุทธรูปโบราณที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียภาคเหนือที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน

 

ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา จัดเป็นสังฆาราม สถานศึกษาในทางพุทธศาสนา ที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนาน หนึ่งในสถาบันทางพุทธศาสนาที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างประเทศ ในอินเดียยุคก่อนมีอยู่ ๔ เมือง คือ ตักกสิลา มถุรา อุชเชนี และ นาลันทา นี่เอง และสมัยนั้นการเรียนการสอนเป็นไปอย่างเข็มงวด คือ อาจารย์สอนลูกศิษย์เพียง ๔ คน ใช้เวลาสอนตั้งแต่เช้า จนตะวันตกดิน เปิดโอกาสให้ปุจฉาวิสัชชนากันเต็มที่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และพระถังซำจั๋งได้เดินทางมาถึงนาลันทา เมื่อพ.ศ. ๑๓๐๐ สมัยราชวงศ์ถัง และย้อนไปสมัยราชวงศ์ฮัน ปีพ.ศ. ๔๐๐ ก็มี หลวงจีนฟาเหียน มาที่นี่เช่นเดียวกัน

 

นาลันทาล่มสลาย ในพ.ศ. ๑๗๖๖ โดยพวกมุสลิมที่เข้ามารุกรานอินเดีย เผามหาวิทยาลัยแห่งนี้ เผาพระภิกษุ เข่นฆ่าอย่างทารุณ และเสื่อมสูญไปนานถึง ๖๒๔ ปี จึงได้มีการขุดค้น และพัฒนาให้เห็นเช่นปัจจุบัน เป็นสถาบันการศึกษาสายบาลี มุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ทางพระพุทธศาสนาดังเช่นเป็นมาในอดีต

 

พระสถูปใหญ่ใจกลางโบราณสถานที่นาลันทา ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวาร มีปฏิมากรรมสมัยนาลันทา สันนิฐานว่าสร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นอนุสรณ์แก่พระสารีบุตร ส่วนสถูปที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ห่างจากสถูปใหญ่อันเป็นที่อธิษฐานปรินิพพานของพระสารีบุตร และเป็นที่ฌาปนกิจสรีระของพระสารีบุตร หรือเป็นที่ตั้งเชิงตะกอนเผาพระอัครสาวก

 

เมื่อทำการประชุมเพลิงเสร็จแล้ว พระจุนทะผู้เป็นน้องของพระสารีบุตร เก็บอัฐิธาตุกับนำบาตรและจีวรของพี่ชาย เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ เชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระบรมศาสดา ตรัสสรรเสริญคุณของพระสารีบุตร และทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารร่างกาย การเกิดและการดับของสรรพสิ่งในโลก ครั้นแล้ว โปรดให้สร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรไว้ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั่นเอง

 

เรามาถึงนาลันทา เมืองสำคัญในพุทธศาสนา ให้น้อมใจระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ ในการพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะได้มาเยือนเป็นเวลาอันสั้นก็ตาม

 

ก่อนอำลานาลันทะ ที่เป็นบ้านเกิดของพระอริยสงฆ์อัครสาวกแล้ว ต้องขอกล่าวถึงพระสูตรสำคัญ ที่เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอน เกวัฏฏพราหมณ์ ครั้งที่ทรงประทับ ณ ป่ามะม่วง ของปาวาริกะใกล้เมืองนาลันทา ซึ่งในครั้งนั้น เกวัฏกะผู้บุตรของคฤหบดี ขอให้ภิกษุผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อให้ผู้คนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสยืนยันถึงสามครั้งว่า พระองค์มิได้ทรงแสดงธรรมให้ภิกษุแสดงปาฏิหาริย์แก่คฤหัสผู้นุ่งผ้าขาว ทรงแสดงวิธีแสดงฤทธิ์สรุปว่า ปฏิหาริย์มี ๓ อย่าง คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้  ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจทายใจคนอื่นได้ และ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ การแสดงธรรมจนเกิดผลดีน่าอัศจรรย์

 

ในสองข้อต้น พระพุทธองค์ทรงรังเกียจ แต่สรรเสริญเฉพาะ อนุสานีย์ปาฏิหาริย์  ว่าด้วยการแสดงธรรมโดยพิศดารให้เกิดผลดี เพราะฤทธิ์มากมายไม่ใช่ทางแห่งการหลุดพ้น

 

และเรื่องราวของการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ที่เมืองนาลันทาครั้งที่โปรดอุบาลีอุบาสก ว่าด้วยเรื่องเจตนา มีใจความย่อว่า

 

ในคำสอนของนิครนถนาฏบุตร ได้บัญญัติการทำกรรมอันเป็นบาปไว้ว่ามี ๓ อย่าง คือ

๑. ทัณฑ์ทางกาย  ๒. ทัณฑ์ทางวาจา  ๓. ทัณฑ์ทางใจ ทั้งสามนี้เป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน และทัณฑ์ทางกาย มีโทษมากที่สุด

 

ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงถึงกรรมมีอยู่ ๓ อย่าง คือ กรรมทางกาย กรรมทางวาจา และกรรมทางใจ และพระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า กรรมทางใจมีโทษมากกว่า

 

นิครนถนาฏบุตรจึงให้อุบาลีคฤหบดีไปยกวาทะกับพระพุทธองค์

 

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า นิครนถ์ ถ้าผู้มีความสำรวจระวังดีแล้ว แต่เดินไปเดินมา ทำให้สัตว์ตัวเล็กๆถึงแก่ความตาย จะบัญญัติผลของผู้นั้นว่าอย่างไร

 

นิครนถ์กราบทูลตอบว่า ไม่บัญญัติ เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่มีเจตนา จึงไม่มีโทษมาก แต่ถ้ามีเจตนาก็มีโทษมาก พระพุทธองค์ทรงถามต่อว่า เจตนานั้น จัดอยู่ในกรรมไหน (แน่นอน คำตอบคือ กรรมทางใจ) และคำตอบของอุบาลีนิครนถ์ ก็คือ จัดเข้า มโนทัณฑ์ แม้กระนั้น อุบาลีคฤหบดีก็ยังเชื่อว่า โทษทางกายมีมากกว่าโทษทางใจ

 

พระองค์ตรัสถามต่อว่า ในเมืองนาลันทา ซึ่งมีคนมากมายขนาดนี้ ถ้าหากว่ามีคนหนึ่งคนถือดาบมาฆ่าให้ตายหมดโดยใช้เวลาครู่เดียว จะทำได้หรือไม่ อุบาลี ตอบว่าไม่ได้ ถึง ๑๐-๑๕ คนก็ไม่อาจทำได้ ตรัสถามต่อว่า ถ้าสมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญทางจิต ตั้งจิตเพื่อทำลายเมืองนาลันทาให้เป็นเถ้าถ่านด้วยจิตคิดประทุษร้าย ครั้งเดียวได้หรือไม่ อุบาลีทูลตอบว่า ได้ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเตือนว่า เดิมชี้ว่าทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่กลับยอมรับว่าผู้มีอำนาจจิต ทำลายเมืองได้ทันที แต่ผู้ใช้กำลังกายทำไม่ได้เช่นนั้น

 

เมื่อจบสิ้นข้อสงสัยแล้ว อุบาลีคฤหบดีก็แสดงตนเป็นอุบาสกเข้าถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต หลังจากนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ส่งผลให้อุบาลีคฤหบดีได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล

 

พระพุทธองค์ทรงเน้นที่ใจ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน เราต้องทำความเข้าใจให้ดี ต้องเป็นบุคคลที่ย้อนดูตัว กำหนดรู้ในทุกการกระทำ พยายามเข้าใจในความคิดของตัวเอง และต้องรู้ว่า ในการกระทำทุกอย่างนั้นมีเหตุจากอะไร ปัจจุบันทำอะไร และอนาคตมีผลอย่างไร ถ้าใจบริสุทธิ์ แม้ถูกพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม รวมถึงกรรมกำหนดให้เบี่ยงเบนไปในทางอกุศล ท้ายที่สุด การกระทำนั้นก็บริสุทธิ์เป็นกุศลตามที่ใจตั้งไว้ ที่เราเรียกว่าสัมมาทิฐิ ที่คนโบราณบอกว่า คนดีทำบาปไม่ขึ้น เพราะเหตุแห่งใจที่ตั้งไว้บริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งตนไว้ชอบแล้ว เข้าสู่วิถีทางแห่งมรรค และจะถึงผลในที่สุด

 

เราต้องเข็มแข็งเมื่อตั้งตนไว้ชอบ คือมีเป้าหมายที่แน่ชัด มีความคิดตั้งมั่นแน่วแน่ เปล่งวาจาเป็นสัตย์ เพียรพยายามให้มีการกระทำที่ถูกต้อง บางครั้งเสียส่วนน้อยเพื่อได้การใหญ่ อาจมีการกระทบกระทั่ง แต่ถ้ามั่นใจ เราดำเนินชีวิต ทั้งมีอาชีพชอบไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ตั้งมั่นแน่วแน่ จิตก็สงบและวางเป็นกลางต่อโลกธรรม ไม่ฟูมฟายเมื่อทุกข์ ร้องหาสุข หวั่นไหวต่อคำคน จะมีลาภหรือเสื่อม จะมียศหรือเสื่อม จะพบสิ่งที่รักหรือไม่รัก ก็เป็นเรื่องธรรมดา ความเข็มแข็งที่จะเดินในทางธรรม ต้องอาศัยความเข็มแข็งและแน่วแน่ อย่างนี้เรียกว่าบำเพ็ญเพียร เป็นบารมีที่จะเข้าถึงมรรคและผล

 

จงตั้งเจตนาให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ศีล ความคิด การกระทำ สำรวจจิต กำหนดรู้ และซื่อตรงต่อความคิดที่เป็นกุศล มีเป้าหมายที่เด่นชัด และเดินไปตามนั้น ด้วยสัจจะและสม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว วอกแวก ลังเล กุศลก็เกิดนับตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว การบรรลุธรรมทั้งมรรคทั้งผลก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

 

 

ที่เมืองนาลันทะมีพระอรหันต์เสด็จผ่าน ทั้งมีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ขอให้ศิษย์ทั้งหลายตั้งใจน้อมนำจิตให้ตั้งไว้ชอบแล้วเข้าถึงพระธรรมคำสอนของ พระพุทธองค์....สาธุ