- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
19 มี.ค. 2559
จากลุมพินีสู่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศอินเดีย ห่างจากชายแดน ประมาณ ๒๕๐ กม. ก็นั่งรถนานหน่อย เพราะถนนไม่ดี วิ่งเร็วไม่ได้ ประมาณ ๗ ชั่วโมง เราได้ชมความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย และจินตนาการไปถึงสมัยพุทธกาลได้อย่างจุใจ
เราได้รู้อย่างหนึ่งว่า แคว้นโกศล มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อโยธยา ทั้งเป็นชื่อเมืองสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ในฐานะเป็นชื่อเมืองหลวงดั้งเดิมของแคว้น และเป็นเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์อย่างที่เรารู้จักกัน เดิมเป็นชื่อเมืองหลวง ต่อมาก็เรียกเป็นชื่อแคว้น
พูดถึง รามเกียรติ์ ทางฮินดู เชื่อว่า พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระราม และในชาติสุดท้าย คือ พระพุทธเจ้าของเรา อย่างน้อยเขาก็นับถือพระศาสดาของเราว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้าคนสำคัญของเขาด้วย และอยากบอกด้วยว่า ในนิทานชาดกที่ค้นคว้าหาอ่านมา มี ทศรถชาดก เป็นเรื่องราวที่พระศาสดาเสวยพระชาติเป็นโอรสองค์โตของท้าวทศรถ นามว่า พระราม
ส่วนนครสาวัตถี เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโกศล เป็น ๑ ใน ๖ ของเมืองมหาอำนาจในสมัยพุทธกาล มีพระเจ้าปเสนทิโกศล มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ พระเจ้าพิมพิสาร แห่งมคธรัฐ หรือ กษัตริย์วงศ์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี
แคว้นโกศลในสมัย พุทธกาลเป็นแคว้นใหญ่มีความรุ่งเรือง และมีอำนาจ ทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ และพระพุทธองค์ทรงปักหลักและประกาศพุทธศาสนาอยู่ที่สาวัตถี รวม ๒๕ พรรษา แยกเป็นที่เชตวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา และบุพพาราม ที่สาเกตุ ๖ พรรษา เป็นสถานที่พระพุทธองค์ตรัสเรื่องราวของนิทานชาดกมากที่สุด
พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระโพธิสัตว์ และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธองค์ เท่ากับเป็นเมืองที่บำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอันไกลโพ้น หวังว่า เราทั้งหมดนี้จะพ้นไปหมด ไม่ได้ไปพบกับพระองค์ อีกหลายกัปเชียว
ในสมัยพุทธกาล พราะเจ้าปเสนทิโกศล เป็นกษัตริย์ที่นับถือพระพุทธองค์อย่างยิ่ง มีเรื่องราวที่น่าจดจำ เพราะพระองค์คือ ฆราวาสผู้หนึ่งที่ไม่ได้บวช แต่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เมื่อครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เลื่อมใสในพระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เลื่อมใสในสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ปฏิบัติดีแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวสาวัตถี พระองค์ทรงกระทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศลอยู่ในความดี.....
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เท่ากับอายุของหม่อมฉัน ด้วยเหตุนี้แล หม่อมฉันจึงได้มีความรักและเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่ง ในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงแสดงอาการฉันท์มิตรเช่นนี้"
ภายหลังจากนั้น พระพุทธองค์จึงมีรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
"พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัสธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์นี้ประกอบด้วยประโยชน์เบื้องต้นของพรหมจรรย์"
การที่เราตั้งจิตกันไว้ที่กรรมบถ ๑๐ มีวาจาอันชอบ และเรากล่าวถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แล้วว่า เป็นเบื้องต้นของการประพฤติธรรม ถ้าหากใครยังมีวาจาอันไม่เป็นที่รัก วาจาหยาบคาย นินทา ยุยง มีวาจาที่ไม่เป็นมงคลอยู่เสมอ ก็จะไม่สามารถเปล่งวาจาที่เคารพพระรัตนตรัยอันสูงสุดได้ ก็ไม่สามารถก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เราพึงตั้งใจว่า นับแต่นี้ เราต้องตั้งจิต ตั้งใจไว้ชอบ เพื่อประกอบวาจาอันเป็นมงคล ไม่กล่าวร้าย ไม่ใช้วาจาหยาบคาย เราก็สามารถเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
เรื่องราวของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีหลายตอนที่เป็นแบบอย่างของการรับประทานโอวาทในแบบของฆราวาส เช่นตอนหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิ ทรงเสวยจุ น้ำหนักก็มากขึ้นเรื่อยๆเหมือนพวกเราในตอนนี้ เวลาประทับนั่งก็ไม่ค่อยสะดวก ประทับยืนก็ไม่คล่อง เมื่อเข้าเฝ้าใกล้ชิดก็อึดอัด พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า
"มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะ ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า และมีอายุยืน"
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สติ ให้สุทัศนกุมาร พระนัดดาซึ่งตามเสด็จมาด้วย คอยกล่าวคาถานี้ในยามที่พระองค์เสวย ทำให้พระองค์เสวยแต่พอควร ไม่นานพระวรกายก็มีทรวดทรงพอดี ไม่อึดอัดอย่างเคย
สมควรไหมหนอ.. ที่เราจะท่องคาถานี้ทุกครั้งที่เรารับประทาน จะได้แก่ยาก ตายช้า มีอายุยืน
วิหารแสดงธรรม
ในนครสาวัตถี มีวัดที่สำคัญที่เรากำลังเข้าไปเยี่ยมเยือน คือ เชตวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกสร้างถวาย ในสมัยที่ท่านเป็นพ่อค้านามว่า สุทัตตะ ไปประกอบธุรกิจที่กรุงราชคฤห์ ได้พบกับพระพุทธเจ้าและประกาศตนเป็นอุบาสก ทั้งกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จที่นครสาวัตถี และได้สร้างเชตวันมหาวิหารถวายพระพุทธองค์ ซึ่งเรื่องราวรายละเอียดของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี รวมถึงครอบครัว และความเป็นไปของท่าน หาอ่านเอารายละเอียดได้เป็นเล่ม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่เมืองสาวัตถี
อีกวัดหนึ่ง คือ บุพพารามมหาวิหาร ของนางวิสาขา สร้างไว้เป็นอารามใหญ่มีห้องพักถึง ๑๐๐๐ ห้อง พระพุทธองค์ทรงบัญชาให้พระโมคคัลลานะ ดูแลช่วยสร้าง และพระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษาที่วัดนี้ถึง ๖ พรรษา
เรื่องราวของนางวิสาขากับเมืองสาเกตุ และคุณูประการที่นางวิสาขามีต่อพระสงฆ์ ด้วยการขอพร ๘ ประการ และขอให้พระสงฆ์รับผ้ากฐิน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี สามารถหาอ่านค้นคว้าเพิ่มเติมเช่นกัน ถ้าเราศึกษาประวัติของสองท่านนี้ไปก่อน การเยี่ยมชมเชตวันมหาวิหารและเข้าเมืองสาเกตุ ก็จะทำให้เข้าถึงสมัยพุทธกาลได้ดี
พระสูตรสำคัญพระสูตรหนึ่ง คือ มงคลสูตร ที่ท้าวสักกะให้เทวดาไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า
" เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลายมาเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ขอพระพุทธองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดว่าคืออย่างไร เพื่อนำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่ชาวโลกทั้งปวง"
นี่เป็นที่มาของมงคล ๓๘ ประการ เราคงได้มีโอกาสสวดมนต์บทนี้หน้าคันธกูฏี เป็นการน้อมระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์ประทานพระสูตรนี้กับเทวดา และเสมือนหนึ่งเรากราบทูลพระบรมศาสดาว่า เราจะเป็นผู้มีมงคลกับตัวให้ครบสามสิบแปดประการ
ในสมัยนั้น ชาวเมืองสาวัตถีมักจะนำดอกไม้ของหอมไปถวายพระพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหาร แต่ในบางครั้งพระพุทธองค์เสด็จจาริกโปรดสัตว์ไปตามชนบท ชาวเมืองก็นำเครื่องสักการะบูชาไปวางไว้ที่ประตูพระคันธกุฏี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงขอร้องให้พระอานนท์หาสถานที่เพื่อให้ชนทั้งหลายวางเครื่องสักการะนั้น พระอานนท์จึงกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า ข้าพระองค์อาจทำเจดีย์ไว้เพื่อให้ชนทั้งหลายสักการะได้หรือไม่ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า เจดีย์มี ๔ ประเภทคือ
๑. ธาตุเจดีย์ สำหรับพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ คือ สิ่งหรือสถานที่พระพุทธองค์ทรงใช้สอย
๓. อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่พระพุทธรูป หรือ รูปเหมือนพระพุทธเจ้า
๔. ธรรมเจดีย์ ที่บรรจุพระธรรมคำสอน
"อานนท์ ธาตุเจดีย์เธอมิอาจทำได้ เพราะธาตุเจดีย์จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ตถาคตอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ แม้ตถาคตจะยังมีชีวิตอยู่ หรือปรินิพพานแล้ว ก็ถือเป็นเจดีย์เหมือนกัน สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ยังไม่มีวัตถุปรากฏ" (คือสมัยนั้นยังไม่มีใครสร้างพระพุทธรูปแทนองค์)
พระอานนท์จึงกราบทูลขอต้นโพธิ์มาปลูกไว้ข้างทางเข้าเชตวันมหาวิหาร พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วย พระอานนท์จึงขอร้องพระโมคคัลานะ ให้นำเมล็ดพันธ์สุกจากต้นมหาโพธิ์ที่พระองค์ทรงตรัสรู้มาให้ แล้วถวายให้พระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงปลูก แต่พระราชาทรงดำริเห็นควรให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ปลูก และพระราชาทรงรดโพธิ์นั้นด้วยน้ำสุคนธรส หลังจากนั้น พระอานนท์กราบทูลขอให้พระบรมศาสดาประทับเข้าสมาบัติ ณ โคนโพธิ์นั้น เพื่อประโยชน์แก่ชนทั้งหลายในการสักการะบูชา พระพุทธองค์ทรงประทับที่โคนโพธิ์นั้นด้วยความสุข เกิดแต่สมาบัติตลอดราตรีหนึ่ง
ลองย้อนไปอ่านเรื่องต้นโพธิ์ในหน้าแรกๆที่พุทธคยา จะทราบได้ว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้ มีกระแสศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมศาสดามากที่สุด ตามพุทธดำรัสว่าพุทธศาสนาอยู่ได้ ๕๐๐๐ ปี แต่นี่เป็นกระแสเมตตาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ตลอดราตรี
และพวกเราคงเข้าใจแล้วว่า เราควรวางพระพุทธรูปด้วยความเคารพในที่อันสมควรอย่างไร เพราะจัดเป็นอุเทสิกเจดีย์ แม้สถานที่พระองค์เคยประทับที่พุทธคยา ไม่ว่าต้นโพธิ์หรือเจดีย์องค์ใหญ่นั้นก็จัดเป็นอุเทสิกเจดีย์เช่นเดียวกัน
พระคันธกุฎี
ทางเข้าเชตวันมหาวิหารปัจจุบัน ไม่ใช่ทางเข้าในอดีต ประตูทางเข้าในสมัยพุทธกาล จะอยู่ด้านต้นโพธิ์ หมายความว่า เมื่อเข้าประตูสู่เชตวัน ต้นโพธิ์จะอยู่ทางด้านขวา ก่อนจะเลี้ยวเข้าคันธกุฏี ปัจจุบันประตูเปิดทางด้านวิหาร สถานที่พระพุทธองค์ตรัสพระสูตรและประทานโอวาทแด่พุทธบริษัทสี่
ตามประวัติของการสร้างเชตวันนั้น พวกเราคงทราบดีในเรื่องของเจ้าเชต แต่ที่มีมากกว่านั้นคือ ยังไม่เคยมีเศรษฐีคนใด ทำได้ถึงขนาดนี้มาก่อน ทำให้พราหมณ์เจ้าลัทธิต่างๆในเมืองสาวัตถีเกิดความอิจฉา ทั้งมีการต่อต้านนินทาว่าร้าย จนพระบรมศาสดาได้พระอัครสาวกสารีบุตรมาช่วยในการก่อสร้าง เพื่อเป็นกำลังใจ
ในการทำบุญต่างๆของมหาอุบาสกท่านนี้ ต้องเผชิญแรงต่อต้าน อุปสรรคมากมาย ทั้งปัญหาในการงานก็มีเหมือนคนอื่นๆ คงเป็นกำลังใจและเป็นแบบอย่างให้เราได้เป็นอย่างดี
การเสด็จมาของพระบรมศาสดา ถูกต่อต้านอย่างมากมายและหนาแน่นจากเจ้าลัทธิต่างๆ ซึ่งนอกจากมีลัทธิโบราณแล้ว นครสาวัตถียังมีศาสนาเชนตั้งมั่นเป็นปึกแผ่นก่อนพุทธศาสนา มาศาสนาอาชีวก ทั้งมีปริพาชกอีกมากมาย ที่หาเรื่องใส่ร้ายให้ประชาชนเกลียดชังพระบรมศาสดา
ครั้งหนึ่งมีการจ้างนางสุนทริกากล่าวตู่ว่ามีเรื่องชู้สาวกับพระบรมศาสดา แล้วต่อมาพวกปริพาชกก็ฆ่านางสุนทริกาแล้วเอาศพไปหมกไว้ใต้คันธกุฏีของพระพุทธองค์ พอศพเน่าคนได้กลิ่นก็พากันมาดู ต่างเข้าใจว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ฆ่าเพื่อปกปิดความ ข่าวนี้ระบือไปทั่วกรุงสาวัตถี จนพระพุทธเจ้าต้องงดเสด็จออกบิณฑบาตรเวลาเช้า พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องการรู้ความจริง โปรดให้นักสืบออกสืบสาวก็ได้เรื่องภายใน ๗ วันและจับคนฆ่านางสุนทริกาและผู้จ้างวานได้ทั้งหมด
ถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจกันพอสมควร ถึงคำว่า " อันนินทากาเล เหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดลงกรีดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคินทร์ เราคนธรรมดาหรือจะสิ้นคนนินทา"
ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แห่งแคว้นโกศลแห่งนี้ มีความสำคัญในพุทธประวัติมากที่สุด มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย พระบรมศาสดาทรงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนใจบุคคลสำคัญ และเจ้าลัทธิใหญ่ในนครสาวัตถีเป็นอันมาก เช่น พราหมณ์อัคคิกะภารัทวาชะ ที่ตระโกนด่าพระพุทธองค์ พราหมณ์ชานุโสณิ พราหมณ์ธนัญชานิ ล้วนเป็นศัตรูตัวร้ายของพระพุทธองค์ เมื่อกลับใจแล้วกลับเป็นกำลังสำคัญในพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นเรื่องของพาวรี ๑๖ คน เดินทางจากฝั่งแม่น้ำโคธาวรี มาขออุปสมบทที่พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีปัญญา พระอชิตะ ที่ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าคือ พระศรีอารยะเมตตรัย ก็อยู่ในกลุ่มของ พาวรี ๑๖ คนนี้ด้วย เราสามารถหาอ่านได้ ในหนังสือ ประวัติพระอรหันต์ ๘๐ และ พุทธอุบาสก อุบาสิกา
และเรื่องราวที่พวกเรารู้จักกันดี ทั้งปรากฏอยู่ในบทสวดพาหุงฯ นั้น คือ เรื่องของ จิญจมาณวิกา ที่ปัจจุบัน มีผู้ชี้ร่องรอยที่นางจิญจมาณวิกาถูกธรณีสูบ และเป็นที่มาของการตรัสมหาปทุมชาดก ในทวาทสกนิบาต