เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - สาวัตถี สาเกตุ
19 มี.ค. 2559

 

ณ บริเวณเชตวันมหาวิหาร เราจะได้เดินถึงพระเจดีย์อรหันต์ ๘ ทิศ กุฏิพระมหากัสสปะ กุฏิพระสีวลี กุฏิพระองคุลีมาล กุฏิพระอานนท์ กุฏิพระสารีบุตร ตามลำดับ 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, สาวัตถี, เชตวัน

 

และที่สุดด้านในคือ มูลคันธกุฏี เป็นสถานที่ที่ชาวพุทธให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งกว้างขวางเป็นสองเท่าของมูลคันธกุฏีที่ยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, สาวัตถี, เชตวัน, คันธกุฎี

 

การสร้างรูปของชาวพุทธเพื่อให้มีความหมายถึงพระบรมศาสดา คือ สร้างรูปช้าง หมายถึงการปฏิสนธิในครรภ์ของพุทธมารดา รูปวัว หมายถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนประสูติ รูปม้า หมายถึงการเสด็จออกบวช รูปสิงห์โต หมายถึงความยิ่งใหญ่ในหมู่ศากยวงศ์ รูปต้นโพธิ์ หมายถึงการตรัสรู้ รูปล้อธรรมจักร หมายถึงการแสดงปฐมเทศนา เพราะสมัยนั้นไม่มีการสร้างพระพุทธรูป เกรงว่าเป็นการไม่เคารพและไม่สามารถสร้างปุริสลักษณะ ๓๒ ประการได้

 

หน้ามูลคันธกุฏี คือโรงธรรม ที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทแด่ภิกษุและพุทธบริษัท

 

ณ เชตวันมหาวิหารแห่งนี้ พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม รวมทั้งสิ้น ๘๔๔ พระสูตร ทรงแสดงที่บุพพาราม ๒๓ พระสูตร ตรัสสอนที่อื่นในสาวัตถี ๔ สูตร รวม ๘๗๑ สูตร

 

มีเรื่องราวที่เป็นเรื่องใหญ่ในสมัยนั้น คือเรื่องราวของ ปฏาจาราเถรี ธิดาเศรษฐีแห่งสาวัตถี ที่ลักลอบรักกับคนใช้ และได้รับความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง เมื่อสูญเสีย สามี ลูกทั้งสอง พ่อแม่และญาติทั้งหมด ในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ทำให้นางเสียสติ ปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่างๆจนถึงเชตวัน ชนทั้งหลายพากันร้องเซ็งแซ่ว่า คนบ้า คนบ้า พระบรมศาสดาทรงแผ่เมตตา เปล่งวาจาให้กลับได้สติ ขณะนั้น บุรุษคนหนึ่งจึงนำผ้ามาให้นางห่ม เมื่อเรียบร้อยแล้ว นางจึงกราบทูลว่า

 

" ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันด้วยเถิด เพราะว่าบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันเหยี่ยวได้เฉี่ยวเอาไป บุตรอีกคนหนึ่งก็ถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายกลางทาง มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนพังทับตาย และถูกเผาบนเชิงตระกอนเดียวกัน "

 

ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดง อนมตัคคปริยายสูตร เรื่องสงสารไม่มีที่สิ้นสุด โดยนัยว่าน้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย น้ำตาของคนผู้อันทุกข์และเศร้าโศกมิใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น เหตุไรเธอจึงประมาทอยู่เล่า

 

พระธรรมเทศนานั้นส่งผลให้นางได้บรรลุโสดาปัตติผล และขอบวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหันต์ เพราะพิจารณาสายน้ำที่ตักล้างเท้าสามสาย เปรียบได้กับการดับชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย

 

ใครก็ตามที่มีทุกข์เพราะรัก ไม่ว่าจะรักอะไรก็ตาม ก็ขอให้นึกถึงเรื่องราวของนางปฏาจารา แห่งเมืองสาวัตถีนี้

 

ในนครสาวัตถีนี้ มีสถูปที่สร้างขึ้น คือ ซากวิหารของพระนางมหาปชาบดีองค์หนึ่ง ที่ซากบ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐีองค์หนึ่ง กับที่ซึ่งองคุลีมาลสำเร็จพระอรหัตตผล อันเป็นที่เผาศพองคุลีมาลด้วยอีกองค์หนึ่ง

 

มีเรื่องราวของภิกษุ ภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป  ซึ่งล้วนถือการอยู่ป่าและบิณฑบาตรเป็นวัตร พากันเดินทางมายังกรุงสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แต่เพราะเป็นเวลาจวนเข้าพรรษาไม่สามารถเดินทางมาให้ทัน จึงจำต้องจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตุ เมืองของนางวิสาขา ซึ่งเราจะไปเยี่ยมเยือนต่อไป ย้อนกลับมาเรื่องของภิกษุทั้ง ๓๐ เพราะเมื่อภิกษุทั้งหลายจำพรรษาที่ เชตวันมหาวิหาร เมื่อกลับจากบิณฑบาต ฉันภัตตาหารแล้ว ได้ประชุมกันที่หอฉัน สนทนากันถึงเรื่องต่างๆอันเป็นเดรัจฉานกถา หมายถึงเรื่องที่สมณไม่ควรพูด คือเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน ฯลฯ

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า " ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรที่ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย" แล้วตรัสกถาวัตถุ คือ เรื่องที่ควรพูด ๘ ประการ ว่า พวกเธอพึงกล่าววาจา

 

๑ .ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย

๒. ชักนำให้สันโดษ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

๓. ชักนำให้เกิดความสงบ

๔. ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล

๕. ชักนำให้มีจิตตั้งมั่น

๖. ชักนำให้เกิดปัญญา

๗. ชักนำให้ยินดีในการหลุดพ้นจากกิเลส

๘. ชักนำให้เกิดความรู้สึกถึงผลดีของการละกิเลส

 

กถาวัตถุทั้ง ๘ ประการนี้ เมื่อนำมาสนทนากัน ย่อมก่อให้เกิดกุศลธรรมมากขึ้น ทั้งกาย วาจาและใจ ก็หวังว่าชาวเราทั้งหลาย จะสนทนาตามแนวทางนี้ เพื่อผลแห่งกุศลธรรม ตลอดการเดินทางครั้งนี้

 

เส้นทางที่ เราจะเข้าเมืองสาเกตุ เป็นถนนที่ตัดใหม่ จะผ่านสถานที่ที่ชี้ชวนกันดูว่าเป็นที่ที่เทวทัตถูกธรณีสูบ ความจริง ไม่ว่าจะเป็นจิญจมาณวิกาหรือพระเทวทัตที่ถูกธรณีสูบ ในสถานที่ที่พ้นสายพระเนตรของพระบรมศาสดานั้น ไม่มีใครทราบว่าอยู่ที่ใดแน่ ก็ขอให้พวกเราเพียงรับรู้ผลแห่งกรรมที่เที่ยงแท้ และข้อสำคัญ กรรมที่เป็นอนันตริยกรรม ทั้งเป็นทิฐิธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศล ที่เกิดผลเห็นทันตา เป็นการพิสูจน์กฏแห่งกรรม 

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, สาวัตถี

 

นอกจากนี้ เราจะผ่านสถูปที่มีลักษณะเป็นเนินดินสูงมาก ที่เหลือให้เห็นว่าสูงเด่นในเขตนครสาวัตถี และไกลจากเชตวันมหาวิหาร ประมาณ ๒ กิโลเมตรครึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า สวนมะม่วงของคัณฑกะ และสันนิษฐานว่าสถานที่นี้ คือที่ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์

 

เหตุการณ์ตอนนี้ ต้องย้อนกลับไปตอนต้นที่อธิบายไว้ว่า ลาภสักการะที่เกิดขึ้นเป็นอันมากแด่พระภิกษุในพุทธศาสนา ทำให้เดียรถีย์เกิดความอิจฉาและหาทางทำลาย ในที่สุดมีการท้าทายให้พระพุทธองค์ทรงแสดงฤทธิ์ จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงประกาศว่าจะแสดง ยมกปาฏิหาริย์ ที่ใกล้นครสาวัตถี ในวันเพ็ญเดือน ๘ ใกล้ไม้คัณฑามพฤกษ์ คือต้นมะม่วง พวกเดียรถีย์ก็หาทางตัดต้นมะม่วงจนหมด พระพุทธองค์ทรงเสวยมะม่วงและเหลือเมล็ดเพาะปลูกลงในดิน ทรงล้างพระหัตถ์รดลงบนเมล็ดมะม่วงนั้น ทันใดนั้นก็เกิดต้นมะม่วงงามสูง ๕ ศอก ออกลูกติดต้น ใครมาก็ได้กินกันทั่วกันเป็นอัศจรรย์ และพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วเสด็จขึ้นดาวดึงส์เทวโลก เพื่อเทศนาโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาอยู่ ๑ พรรษาบนดาวดึงส์นั้น เมื่อใกล้จะออกพรรษา ทรงทราบว่าพระสารีบุตรอัครสาวกไปจำพรรษาอยู่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๓๐ โยชน์ จึงทรงตกลงพระทัยเสด็จจากดาวดึงส์ไปลงที่สังกัสสะ ในวันออกพรรษาเทโวโรหณะนั้นเอง

 

ที่เมืองสาเกตุที่เราได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือน ตามประวัติของนางวิสาขา เป็นเมืองที่มีทำเลอันเหมาะสม และเป็นที่ตั้งของ วัดบุพพาราม ซึ่งเป็นวิหารแห่งที่สองของนครสาวัตถี สร้างโดยนางวิสาขาจากการขายเครื่องประดับมหาลดาปราสาทที่นางทาสีลืมไว้ที่วัด และไม่มีใครสามารถซื้อได้เนื่องจากเป็นของหายากมีราคาสูง นางวิสาขาจึงต้องรับซื้อคืนเอง และนำทรัพย์นั้นมาสร้างวัดบุพพาราม ถวายพระบรมศาสดา

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, สาวัตถี, บุพพาราม

วัดบุพพาราม

 

ในพุทธประวัติกล่าวว่า พระโมคคัลลานะเป็นผู้กำกับการก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ เป็นโลหะปราสาท ๒ ชั้น ชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่างมี ๕๐๐ ห้อง ใช้เวลาสร้าง ๙ เดือนก็แล้วเสร็จ และโลหะปราสาทนี้ ถ้าใครจินตนาการไม่ออก ก็ให้นึกถึงโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดา ประเทศไทยเรานี่เอง

 

พระพุทธองค์โปรดประทับที่บุพพารามในบางโอกาส คือ ถ้าประทับที่พระเชตวันมหาวิหารเวลากลางวัน พระองค์จะเสด็จไปประทับที่บุพพารามในเวลากลางคืน และในบุพพารามนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสพระสูตรต่างๆไว้หลายพระสูตร เช่น

 

คณกโมคคัลลานสูตร ในมัชฌิมนิกาย ว่าด้วย ศีล อินทรีย์สังวร รู้ประมาณในอาหาร เพียร สติสัมปชัญญะ จิตเป็นสมาธิ ปราศจากนิวรณ์ ทรงสอน คณกโมคคัลานพราหมณ์ เมื่อพราหมณ์ถามว่า ทรงสอนดีๆอย่างนี้ ทำไมบางคนไม่ได้บรรลุธรรม ตรัสว่า จะบรรลุหรือไม่อยู่ที่การปฏิบัติตามหรือไม่

 

อุฏฐานสูตร สอนให้ขยัน ลุกขึ้นหมั่นศึกษาเพื่อสติ มิให้มัวนอนหลับ ประมาท ปล่อยโอกาสให้ล่วงเลยเปล่า

 

และยังมีพระสูตรอื่นๆ รวมถึงนิทานชาดกด้วย ทรงประทับอยู่ถึง ๖ พรรษา

 

ที่เรือนของนางวิสาขา นางได้อังคาสพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ ด้วยโภชนาหารอันปราณีต หลังจากเสร็จภัตกิจ นางได้กราบทูลพระศาสดาว่า หม่อมฉันขอประทานพร ๘ ประการ คือ

 

๑. ขอถวายวัสสิกสาฏก (ผ้าอาบน้ำฝน)แก่บรรดาภิกษุทัั้งหลาย

๒. ขอถวายภัตตาหาร แก่ภิกษุอาคันตุกะ

๓. ขอถวายภัตตาหาร แก่ภิกษุที่จะเดินทางไกล

๔. ขอถวายภัตตาหาร แก่ภิกษุผู้อาพาธ

๕. ขอถวายภัตตาหาร แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุผู้อาพาธ

๖. ขอถวายเภสัช แด่ภิกษุผู้อาพาธ

๗. ขอถวายข้าวยาคู แก่บรรดาภิกษุเป็นประจำ

๘. ขอถวายวัสสิกสาฏิกา (ผ้าคลุมอาบน้ำ)แก่ภิกษุณีทั้งหลาย

 

พระพุทธองค์ทรงอนุญาติตามคำกราบทูลขอของนางวิสาขา แล้วทรงอนุโมทนาพร ๘ ประการนั้น นับว่านางวิสาขาเป็นผู้มีคุณอย่างยิ่งแก่ภิกษุและภิกษุณีสืบมา

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่สาวัตถีและเมืองสาเกตุ มีมากมาย ที่สามารถหาอ่านได้ในพุทธประวัติ และ พุทธกิจ ๔๕ พรรษา ส่วนเรื่องราวของเมืองสาเกตุที่เราได้มีโอกาสเข้ามาเยือน อาจไม่เหลือร่องรอยอะไรมากนัก คงต้องใช้ใจดู ว่าสถานที่นี้ในอดีต มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย นับแต่วันที่นางวิสาขา เสมือนหนึ่งอพยพผู้ติดตามมาจากเมืองภัทธิยะ แคว้นอังคะ บ้านเกิดของนาง เมื่อมาถึงสถานที่แห่งนี้ มองเห็นทำเลที่เหมาะสม และไม่ใกล้ไม่ไกลจากสาวัตถี เพราะผู้คน ทรัพย์สิน ข้าทาส บริวาร ของนางวิสาขามีมากมาย ถึงขนาดถ้าเข้าไปอยู่ในเมืองสาวัตถี ก็จะแน่นขนัดไปหมด หมายความว่า ทั้งหมดที่ติดตามนางวิสาขามา สามารถตั้งเมืองเล็กๆได้ ทั้งนี้ด้วยผลของบารมีทานของนางวิสาขาที่สั่งสมมา ทำให้มีของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคมากมาย สมัยนั้นก็มีคนนินทานางวิสาขาว่า แต่งตัวงามเกิน ไหนว่าได้ดวงตาธรรมแล้ว ก็ต้องมีคำวิสัชชนาว่า คนงาม คนพรั่งพร้อม ด้วยผลแห่งบุญกับการปฏิบัติ คือเรื่องเดียวกัน ปฏิบัติได้ปัญญา ทานได้โภคทรัพย์ นางวิสาขาเป็นผู้สั่งสมทั้งทรัพย์และปัญญามาหลายชาติ นับแต่เป็นธิดาคนที่เจ็ด ของพระเจ้ากิกี

 

นางวิสาขาเป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี ดูแลบริวารและสหายทั้งที่ตามมาจากแคว้นอังคะ และสหายใหม่ที่สาวัตถี จึงมีคนรักมากกว่าคนชัง เป็นผู้ที่คิดถึงใจของคนอื่น การดูแลนั้นครอบคลุมไปถึงพระภิกษุ ซึ่งเป็นที่รู้กันต่อมาในพรแปดประการนั้น นางวิสาขาไม่ได้บวช แต่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่หญิงผู้ครองเรือนว่า การปฏิบัติเพื่อเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นต้องบวช และสามารถบรรลุโสดาบันถึงอนาคามีเหมือนเช่นพระภิกษุ

 

ปัจจุบันนี้ ต่างก็เข้าใจผิดว่าผู้ปฏิบัติไม่ควรสวย ไม่ควรรวย ไม่ควรใช้ของดี และไม่ควรเป็นปุถุชน อันนี้เป็นความเข้าใจผิด เราท่านทั้งหลาย พึงปฏิบัติเพื่อให้สะอาดบริสุทธิที่ใจ ไม่จำเป็นต้องอวดชาวโลก กรรมของแต่ละบุคคล ไม่ว่าเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ต่างคนก็รับผลแห่งการกระทำนั้น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตำหนิติเตียนใคร กรรมนั้นเที่ยงธรรมเสมอ แม้ตัวเราผู้สอดส่องเรื่องราวของคนอื่นก็ต้องได้รับผลนั้นเหมือนกัน การถือกรรมบถสิบจำเป็นอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติ และกรรมบถนั้น ไม่มีข้อไหนที่พูดถึง ข้อห้ามของความสวยความงาม ต้องใส่ชุดขาว ห้ามกินเนื้อสัตว์

 

การใส่ชุดขาว การไม่กินหรือกินเนื้อสัตว์ ความชอบของดีของสวยของงาม เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่ไม่มีข้อห้าม เพียงแต่จะปฏิบัติไปได้ช้าเพราะอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะ ละ ลด ปลด หรือวางได้ สิ่งใดที่เราละได้ก่อนจงละ วางได้ก่อนจงวาง และหมั่นให้ทาน รักษาศีล เพราะทานคือ ปลดโลภ รักษาศีล คือ ปลดโกรธและหลง และกระทำตนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร ไม่ว่าคนหรือสัตว์ นั่นเป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่งในการกำหนดจิตมีสติระลึกอยู่เสมอ

 

เรื่องราวของนางวิสาขา อยู่ในความทรงจำของชาวพุทธ เราโชคดีที่มีโอกาสมาเยือนเมืองของนางวิสาขา ผู้ดำรงตนเป็นผู้ครองเรือน มีสามี ปุณณวัฒนกุมาร มีลูกหลานเป็นร้อย นางวิสาขามีความทุกข์ จากการสูญเสีย จากการถูกกล่าวหา จากคดีความกับเจ้าหน้าที่พนักงานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกสรรเสริญ เป็นที่รัก เท่าๆกับถูกนินทา ขอให้ศึกษาประวัติของนางอย่างละเอียด รวมถึงอานิสงค์ที่นางได้สั่งสมมาเป็นสิบๆกัปป์ ก่อนที่เราจะเดินทางมาจาริกครั้งนี้ เมื่อเรามาเยือนถิ่นนี้ จะ"เห็น" ทุกอย่าง และเข้าใจในการปฏิบัติอย่างฆราวาสผู้ครองเรือน

 

 

จากนี้เราก็จะอำลาสาวัตถีและสาเกตุสู่พาราณสี นครที่มีอายุยืนยาวและเก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นเมืองของผู้มีปัญญา ที่พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะมาโปรดปัญญจวัคคีย์ก่อนผู้ใด และเป็นเมืองที่พระบรมศาสดาแสดงปฐมเทศนาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด หลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้สองเดือน