- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
19 มี.ค. 2559
เราเดินทางเข้าสู่พาราณสี เมืองหลวงของแคว้นกาสีตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งความโบราณเก่าแก่นั้นปรากฏในนิทานชาดกที่มีมาเกินกว่า ๔๐๐๐ ปี เช่น สุตโสมชาดก เรียกเมืองว่า สุทัสสนะโสณะ ในทัณฑชาดก เรียก พรหมวัฑฒนะ ยุวันชัยชาดก เรียกรามนคร และอีกหลายชาดก เรียกกรุงพาราณสีว่า กาสีนคร หรือ กาสีกุระก็มี
และที่มีชื่อที่สุด คือ เป็นเมืองแห่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนทั้งหลาย และมีกล่าวอ้างถึงในศาสนาฮินดู และ พุทธศาสนา
ต้นน้ำคงคาเกิดบนเทือกเขาหิมาลัย ศาสนาฮินดู ในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า น้ำพระคงคาไหลพุ่งออกจากโคมุขีหรือปากวัว ซึ่งถือว่าเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ เป็นบันไดขั้นแรกที่พระศิวะเสด็จออกจากบัลลังก์บนยอดเขาไกรลาศ แล้วไหลมาตามช่องเขาสู่ที่ลาดสูง เรียกว่า คงโคตรี ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และบรรดาคนที่เป็นชาวฮินดู ต้องให้ความเคารพ
ณ เมืองพาราณสี บรรดาชาวฮินดู ต้องได้นมัสการสถานที่สำคัญ ๕ แห่งริมน้ำ เรียกว่า ปัญจตีรถะ หรือท่าน้ำทั้ง ๔ คือ ท่าทศวเมธ ท่าปัญจคงคา ท่ามณิกรรณิการ์ และ ท่าอสีสังคม และมีความเชื่อคล้ายกับชาวพุทธเราที่มานมัสการสังเวชนียสถานต้องครบ ๔ แห่ง จึงจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรบกพร่อง
แม่น้ำคงคาแห่งนี้ไหลกลับไปทางทิศเหนือ ตอนเราล่องเรือยามเช้าออกมากลางแม่น้ำ จะเห็นชัดเจน ในคัมภีร์ภารตะถือว่า แม่น้ำนี้ เป็นที่ซึ่ง เทวโลก มนุสสโลก ยมโลก มาพบกัน ผู้ใดมาอดอาหารที่นี้หนึ่งเดือน และอาบน้ำตรงนี้ ผู้นั้นจะเห็นเทวดา
ศรัทธา จึงศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าศาสนาใด ต่างก็เอ่ยถึงเทวดา ถึงสวรรค์ เรามาถึงที่นี้สามารถเชื่อมกันด้วยความเชื่อในเรื่องเดียวกัน เราก็อย่าไปมองไปคิดในสิ่งที่ไม่ควร
ในอรรถาธรรมบทกล่าวไว้ ถึงสตรีอินเดียในสมัยพุทธกาล ได้รับการสอนให้เรียนปรัชญา วิทยาการต่างๆ แล้วอนุญาติให้ผู้หญิงหาชายที่มีความรู้มาอาบน้ำริมฝั่งคงคา เมื่อประฝีปากกับชายใดแล้วเกิดพอใจ ก็อนุญาติให้แต่งงานกับชายผู้นั้นได้
ชาวฮินดูเรียกตัวเองว่า คงคาบุตร เราจะมาที่ท่ามณิกรรณิการ์ฆาต นับว่าสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ที่ชื่อเช่นนี้ เพราะมีตำนานว่า พระศิวะเคยเสด็จมาที่นี่แล้วทำต่างหูตก จึงได้ชื่อตามต่างหูของพระองค์ ดังนั้นทุกคนต่างมีความหวังว่าตายแล้วขอให้ซากศพของตนได้มาเผาที่นี่ และทุกคนก็พยายามอาบน้ำที่ตรงนี้
เราสังเกตได้ว่าไฟที่จุดนี้ ต่อเนื่อง ความจริงต่อเนื่องกันมานับ ๔๐๐๐ ปี มีศพหามกันมาไม่เคยหยุด เมื่อกองหนึ่งมอด ญาติผู้ตายก็จัดการเทกระดูกและเถ้าถ่านลงสู่คงคา แล้วเอาศพอื่นมาแทนที่ ตามฝั่งแม่น้ำ มีอาคารพักสำหรับผู้มารอรับ บูชาแสงอาทิตย์ และอาบน้ำในแม่น้ำคงคา พูดตรงนี้คงนึกถึง สิงคารสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนสิงคาลมาณพ ให้บูชาทิศทั้งหก โดยมีพุทธวิธีที่ไม่ได้ลบล้างความเชื่อเดิม
เราจะได้ล่อง คงคา พร้อมดอกดาวเรืองในกระทงใบตอง ที่บรรจงวางลงบนแม่น้ำคงคา ขอให้เราทุกคนบูชาแบบชาวพุทธ น้อมระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โปรดเหล่าชฎิลทั้งหลาย รวมถึงน้อมระลึกถึงพระอนุพุทธ พระอุปคุต ที่จำพรรษาอยู่กลางทะเล
มาถึงวันนี้ วันสุดท้ายของการเดินทางจาริก ขอน้อมนำพุทธดำรัสมาอีกครั้ง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยระลึกว่า
- พระตถาคตประสูติในที่นี้ ๑
- พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ๑
- พระตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้วในที่นี้ ๑
- พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ ๑
ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใด เที่ยวจาริกไปยังเจดียสถานเหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายมลายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"
นี้เป็นคำตรัสของพระพุทธองค์ใน มหาปรินิพพานสูตร ให้เราทั้งหลายได้ใกล้พระพุุทธองค์ ทั้งกายและใจ เหมือนยังทรงพระชนม์อยู่ และเราก็เดินทางไปเกือบครบแล้ว
ขณะนี้ที่เมืองพาราณสี ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นแห่งสุดท้ายของสังเวชนียสถานที่เราได้มาเยือน อิสิปตน คือ ป่าที่อุดมด้วยฤาษี มฤคทายวัน คือ ป่าที่มีกวาง ความเดิมจึงมีว่า ฤาษีผู้ทรงฌานสมาบัติ นิยมมาชุมนุมกัน ณ สถานที่แห่งนี้ และเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่อวันเพ็ญอาสาฬหมาส ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี การแสดงธรรมครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะหมายถึงการแสดงธรรมเทศนาครั้งแรกที่ต้องมีผล จึงจัดเป็นวันพระธรรม วันประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน เป็นวันพระพุทธองค์ และวันมาฆะบูชาคือวันพระสงฆ์
พระพุทธองค์ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทำให้ท่านอัญญาโกณฑัญญะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา และประทับจำพรรษาแรก ณ อิสิปตนมฤคทายวัน
วันต่อมาทรงประทานโอวาทแก่ปัญจวัคคีย์ที่เหลือให้ดวงตาเห็นธรรม แก่ท่านวัปปะและท่านภัททิยะ วันต่อมา ท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ ก็มีดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
และในที่สุด ปัจจวัคคีย์ทั้ง๕ ก็ได้บรรพชาอุปสมบททั้งหมด
ที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน หรือที่เรียกว่า สารนาถ เราจะเห็น ธัมเมกขสถูป สูงเด่นเป็นสง่า คำว่า ธัมเมข คือ ธัมมะ และ อิกขะ หมายถึง สถานที่แสดงธรรมที่นำพาให้ถึงความหลุดพ้น ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ส่วนใหญ่พุทธศาสนิกชนจะมาสักการะบูชาที่นี้
ในความเห็นเฉพาะตน รู้สึกว่าสถูปนี้ พระเจ้าอโศกมหาราช สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์น้อมระลึกถึง บริเวณสวนป่าร่มรื่นทั้งหมด เป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่งกับพุทธกิจของพระพุทธองค์ตั้งแต่เริ่มพรรษาแรกของการตรัสรู้ ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา ความจริง อาจไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ทรงโปรดปัญญจวัคคีย์ที่ไหน
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณ พ.ศ. ๒๙๕ ได้เสด็จมาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์โปรดให้สร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและศิลาจารึกไว้ และที่หลักศิลาจารึกเป็นอักษรพราหมี และภาษาบาลี มีคำแปลที่เป็นคำเตือนภิกษุและชี ที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ ให้มั่นอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
เสาพระเจ้าอโศก
จึงเชื่อมั่นว่า สถานที่ที่แสดงปฐมเทศนา คงเป็นบริเวณที่สถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพราะเชื่อมั่นว่า การที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ แห่งนี้ รวมถึงการตั้งเสาพระเจ้าอโศกไว้เป็นหลักฐาน แสดงว่า ต้องเป็นสถานที่สำคัญ ที่คนรุ่นนั้นเห็นเค้าลางหลักฐานที่แสดงว่า พระบรมศาสดาทรงแสดงปฐมเทศนาตรงนี้
เราจึงควรมาสวด ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร ณ สถานที่แห่งนี้
ยสเจตียสถาน
ถัดมาเป็นสถานที่ที่เรียกว่า ยสเจตียสถาน เป็นสถานที่แห่งความไม่ขัดข้อง ไม่มีความวุ่นวาย เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีอาคารสี่เหลี่ยมมุงไว้อย่างดี เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง อนุปุพพิกถา ในข้อธรรมที่แสดง ทาน ศีล สวรรค์ เนกขัมมะ กามาทีนพ ตามลำดับ เป็นผลให้ยสมาณพ ได้ดวงตาเห็นธรรม และนำบิดาได้เป็นปฐมอุบาสก มารดา และภรรยา ได้เป็นปฐมอุบาสิกา ณ สถานที่นี้อีกด้วย
ด้วยพระพุทธวัจนะที่ว่า " ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยสะ นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ"
ฉะนั้นเราควรอธิฐานจิตน้อมระลึกถึงท่านยสะ ขอให้ชีวิตของเราปราศจากความวุ่นวาย มีดวงตาที่เห็นธรรมอย่างท่าน
จาก ยสะกุลบุตร สาวกองค์ที่ ๖ ของพระศาสดา เราควรได้รู้จัก พระนาลกะ ซึ่งเกิดในวรรณะพราหมณ์ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ มารดาของท่านเป็นน้องสาวของอสิตดาบส ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสุทโธทนะมาก่อน นาลกะออกบวชตั้งแต่อายุน้อยๆตามคำแนะนำของอสิตดาบสผู้เป็นลุง
ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก นาลกะผู้ซึ่งรอมานานถึง ๓๕ ปี ก็ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และสดับธรรม โมเนยยปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติของมุนีว่า
๑. เธอจงทำใจให้มั่นคง วางตนให้เหมือนกันทั้งแก่คนที่ด่าและไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง ต้องละกาม งดเว้นจากเมถุนธรรม รักสัตว์อื่นเหมือนกับรักตนเอง จงละความอยากไม่หยุดในเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุให้ประกอบมิจฉาชีพ มุนีต้องไม่เห็นแก่กิน บริโภคอาหารแต่พอประมาณ มักน้อย ทำตนให้หายหิว หมดความอยาก ดับความเร่าร้อนได้ทุกเมื่อ
ถ้าเรากำหนดว่าเราไม่ได้บวช ก็ถือปฏิบัติอย่างฆราวาส ละเว้นเพียงบางข้อที่เกี่ยวกับการครองเรือน
๒. มุนีเที่ยวภิกขาจาร ได้อาหารแล้วจงไปที่ชายป่า นั่งบริโภคตามโคนไม้ บำเพ็ญฌาณ ใช้ชีวิตอยู่ในป่า ได้อาหารอย่างไรก็บริโภคอย่างนั้น ไม่ควรหวังอาหาร ขณะฉันไม่ควรพูด
๓. มุนีขณะภิกขาจาร แม้ไม่เป็นไบ้ ก็ทำตนให้เหมือนคนใบ้ ไม่ควรหมิ่นว่าทานเล็กน้อย ไม่ควรดูถูกบุคคลที่ให้ยืน นั่ง นอน แต่ผู้เดียวในที่สงัด จงรู้ไว้เถิดว่าน้ำในแม่น้ำน้อย ย่อมไหลดังน้ำในแม่น้ำใหญ่ ย่อมไหลเงียบ สิ่งใดพร่อง ย่อมมีเสียงดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อมไม่มีเสียงดัง
๔. คนโง่ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว ส่วนคนฉลาดย่อม ทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม เพราะเป็นผู้สงบ เมื่อรู้เหตุแห่งความเสื่อม และ ความทุกข์ ไม่พูดมาก ผู้ปฏิบัติจึงได้ชื่อว่าเป็นมุนี
กล่าวคือ หม้อน้ำเพียงครึ่งเดียว ย่อมกระฉอก เคลื่อนไหวไม่นิ่ง ผิดกับหม้อน้ำที่เต็มแล้ว สงบนิ่ง ไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติม
พระพุทธองค์ทรงมีพุทธวิธีในการประทานโอวาทให้มีผลตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล เมื่อฤาษีนาลกะได้ฟังข้อปฏิบัติของมุนีจากพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบททันที และขอยึดข้อปฏิบัติของมุนี ๓ ประการ คือ มักน้อยในการเห็น มักน้อยในการฟัง และมักน้อยในความกำหนักยินดี
เป็นอันว่าเมื่อมาถึงสถานที่นี้ ใครพร้อมแล้วก็เริ่มถือวัตรปฏิบัติตาม เพราะท่านนาลกะ ได้ถือข้อวัตรบำเพ็ญ โมเนยยปฏิปทา อย่างอุกฤษฏ์ ไม่นานก็บรรลุอรหัตผล นับเป็นสาวกรูปที่๖ เราจะเริ่มกันหรือยัง ด้วยคำอธิฐานและตั้งใจด้วยความเพียร
เราเดินมาถึง ธรรมราชิกสถูป เป็นสถานที่กว้างใหญ่เป็นวงกลม เป็นลานพอนั่งได้ ๓๐ คน ณ ที่แห่งนี้ พระพุทธองค์ทรงเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ด้วย อนัตตลักขณสูตร เป็นทุติยเทศนา ในความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน เป็นอนัตตา เป็นเหตุให้ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ที่ใกล้ๆนั้นเป็นมูลคันธกุฏี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาแรกและพรรษาที่ ๑๒ และเคยเป็นสถานที่ที่มีพระมาลงปาฏิโมกข์กันที่นี่ด้วย
เราได้มาท่องแดนของตามรอยพระพุทธองค์ ถึงวันสุดท้ายที่เราต้องอำลาสังเวชนียสถานทั้ง ๔ และที่น่าสังเกตคือ เรามาสถานที่แสดงปฐมเทศนาในวันสุดท้าย เป็นสัญญานให้เราเร่งปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน
ปฐมเทศนา คือ ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร เป็นพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเพื่อโปรดประทานผู้ถึงพร้อม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นพระธรรมที่สำคัญที่จะพิสูจน์ผลของการตรัสรู้ของพระองค์ ว่าหากใครปฏิบัติตามจะได้บรรลุอรหัตผลหลุดพ้นในวัฏฏสังสารนี้ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการประกาศศาสนาที่ต้องถึงพร้อมด้วย พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์
ขออนุโมทนากับผู้จาริกมาด้วยกันในครั้งนี้ ถือว่าเราผ่าน ขันติ วิริยะ แล้ว ก็ให้การเดินทางครั้งนี้ จงมีผลานิสงค์ให้เราทั้งหลายได้ถึงพร้อมแห่งการปฏิบัติ เพื่อถึงมรรค ถึงผล พระนิพพานในชาติปัจจุบันเทอญ
ค้นคว้า จาก หนังสือ สู่แดนพระพุทธองค์ โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทโธ)
พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา ของ สุรีย์ และ วิเชียร มีผลกิจ
นครราชคฤห์ เมืองหลักพระพุทธศาสนา ของ พระมหา ดร. วิเชียร วชิรวังโส และ พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ
๔๕ พรรษา ของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
คำบรรยาย พระไตรปิฏก ของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
สวดมนตร์แปล วัดจันทาราม (วักท่าซุง) อ.เมือง อุทัยธานี
พุทธสาวก พุทธสวิกา ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก