- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
10 เม.ย. 2559
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
พระอาทิตย์ เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่างอุทัยขึ้นมา
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดั่งสีทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่าง
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน
เย พรัห์มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง มะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ถึงซึ่งเวท คือความรู้ในธรรมทั้งปวง
และขอพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาข้าพเจ้าเถิด
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิญาณ
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่านผู้ที่พ้นจากกิเลสแล้วทั้งหลาย
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ธรรมอันเป็นเครื่องทำให้พ้นจากกิเลส
นกยูงนั้นได้ทำพระปริตรเครื่องป้องกันอย่างนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหารในเวลากลางวัน
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
พระอาทิตย์ เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่าง ได้อัศดงคตตกไปแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่าง
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน
เย พรัห์มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง มะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ถึงซึ่งเวท คือความรู้ในธรรมทั้งปวง
และขอพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาข้าพเจ้าเถิด
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิญาณ
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่านผู้พ้นจากกิเลสแล้วทั้งหลาย
ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ธรรมอันเป็นเครื่องทำให้พ้นจากกิเลส
นกยูงนั้นได้ทำพระปริตรเครื่องป้องกันอย่างนี้แล้ว จึงได้สำเร็จการอยู่ในเวลากลางคืน ฯ
ตำนานโมรปริตร
ใน โมราชาดกทุกนิบาต เล่าไว้ว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกยูงทองงามน่าชมยิ่งนัก นกนั้นรู้จักระวังรักษาตัวดีเป็นที่สุด ที่อยู่ก็หาที่ลี้ลับและไกลตาไกลมือมนุษย์ คือขึ้นไปอยู่บนเขาสูงชื่อ ทัณฑกหิรัญบรรพต ยิ่งกว่านั้นยังมีพรหมมนต์สำหรับร่ายป้องกันตัวให้ปลอดภัยวันละ ๒ คาบ คือเมื่อพระอาทิตย์อุทัยคาบ ๑ เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคาบ ๑ เป็นกิจวัตร พิธีร่ายนั้นต้องไปจับที่ตรงยอดสูงแห่งภูเขาลูกนั้น ตาเพ่งดูพระอาทิตย์ ซึ่งกำลังโผล่ขึ้นหรือลับลงไป พลางก็ร่ายพรหมมนต์ ตอนพระอาทิตย์อุทัยใช้มนต์บทที่หนึ่งคือ อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยในถิ่นที่ไปหาเหยื่อ ตอนพระอาทิตย์อัสดงใช้มนต์บทที่สองคือ อเปตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยในถิ่นที่อยู่อาศัย ทำเช่นนี้เป็นนิจมิได้ขาด ก็แคล้วคลาดปราศจากภัยอยู่จำเนียรมา
แต่ถึงแม้ยูงทองจะระมัดระวังอย่างไร ก็ไม่พ้นสายตามนุษย์ได้ ด้วยว่าวันหนึ่งพรานป่าคนหนึ่งเที่ยวด้อมไปถึงถิ่นนั้น ก็ได้เห็นยูงทองบนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพตนั้น ไม่ได้ทำอะไรเป็นแต่กลับมาบอกให้ลูกชายของตนทราบไว้ ต่อมาพระราชเทวีของเจ้าพาราณสีพระนามว่า เขมา ทรงพระสุบินว่า ได้เห็นนกยูงทองกำลังแสดงธรรมอยู่ ครั้งตื่นบรรทมแล้วจึงทูลแด่พระราชสวามีว่า พระนางมีพระประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง พระราชาจึงตรัสถามอำมาตย์ว่า นกยูงทองมีหรือ อำมาตย์ทูลว่า พวกพราหมณ์คงจะทราบ พวกพราหมณ์รับรองว่านกยูงสีทองมีอยู่จริง แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ทูลว่าพวกพรานคงจะรู้ พระองค์จึงมีรับสั่งให้เรียกบรรดาพรานป่าเข้ามาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสถามถึงเรื่องนกยูงทอง บุตรของตาพรานป่าคนนั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบว่า มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ทัณฑกหิรัญบรรพต พระองค์จึงรับสั่งให้ไปจับมาถวาย พรานนั้นเสาะทราบถิ่นที่นกยูงทองไปลงหาเหยื่อแล้วจึงไปวางบ่วงในที่นั้น พยายามดักอยู่ถึง ๗ ปี ไม่สามารถจับนกยูงทองได้เพราะนกยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่วงไม่แล่นบ้าง ในที่สุดตนเองก็ถึงแก่ความตายอยู่ในป่านั้น
ฝ่ายพระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่สมพระประสงค์ก็เสียพระทัยสิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าพาราณสีทรงพระพิโรธว่า พระราชเทวีของพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์เพราะนกยูงทองตัวนั้นเป็นเหตุ จึงมีรับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองมีใจความว่า "มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพต หากผู้ใดได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้นจะมีอายุยืน ไม่แก่ ไม่ตาย" ดังนี้แล้วให้บรรจุใส่หีบทองเก็บไว้ เมื่อพระราชาองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาองค์อื่นขึ้นครองราชย์แทน ได้ทราบความในแผ่นทองนั้น มีพระประสงค์ที่จะมีพระชนม์มายุยืน จึงรับสั่งให้พรานคนหนึ่งไปจับนกยูงทองตัวนั้น ฝ่ายพรานคนนั้นแม้จะได้พยายามสักเท่าใด ก็ไม่สามารถที่จะจับนกยูงทองตัวนั้นได้ จนกระทั่งตนเองต้องตายในป่าเช่นเดียวกับพรานคนก่อน และโดยทำนองเดียวกันนี้ พระราชาเปลี่ยนไปถึง ๖ พระองค์
ครั้นตกมาถึงสมัยพระราชา องค์ที่ ๗ แห่งพรหมทัตวงศ์ พระราชาองค์นี้ก็มีรับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยูงทองตัวนั้น โดยมีพระประสงค์เช่นเดียวกับพระราชาในรัชกาลก่อนๆ นายพรานคนนี้มีปัญญาหลักแหลม ไปสังเกตการณ์อยู่หลายวันจึงรู้เค้าว่า นกยูงตัวนี้ไม่ติดบ่วงเพราะมีมนต์ขลัง ก่อนออกหากินทำพิธีร่ายมนต์ป้องกันตัวแล้วจึงไป จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาก็คิดตกว่าต้องจับก่อนร่ายมนต์จึงจะจับได้ เมื่อตรองเห็นอุบายแล้วก็กลับลงไปชายป่า จับนางนกยูงได้ตัวหนึ่งนำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง หัดให้รำและร้องจนชำนาญดีแล้ว ครั้นได้โอกาสเหมาะก็อุ้มนางนกยูงไปแต่เช้าตรู่ ก่อนเวลาที่นกยูงทองจะร่ายมนต์ จัดการวางบ่วงเรียบร้อยแล้วปล่อยนางนกยูงลงใกล้ๆ บ่วงนั้น และทำสัญญาณให้นางนกยูงรำแพนส่งเสียงร้องอยู่ก้องป่า
เมื่อความวิบัติจะมาถึง พอนกยูงทองได้ยินเสียงของนางนกยูง ก็เกิดความกระสันให้กระสับกระส่ายเร่า ร้อนใจด้วยอำนาจกิเลส ไม่สามารถที่จะสาธยายมนต์ตามที่เคยปฏิบัติมา เผลอตัวบินไปหานางนกยูงโดยเร็ว เลยติดบ่วงที่พรานดักไว้ พรานจับได้นำไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูงทองนั้นแล้ว ทรงพอพระทัยและทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก ทรงลืมการที่จะเสวยเนื้อนกยูงนั้นเสียสิ้น
ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์แต่งคำสนทนาโต้ตอบ ระหว่างพระราชากับนกยูงทองโพธิสัตว์ไว้น่าฟัง ดังนี้
นก. "ข้าแต่มหาราช พระองค์รับสั่งให้จับข้าพระองค์ เพราะเหตุไร"
ราชา. "ได้ทราบว่า ผู้ใดได้กินเนื้อของเจ้า ผู้นั้นไม่แก่ ไม่ตาย เพราะเหตุนั้น ข้าปรารถนาจะได้กินเนื้อของเจ้า แล้วเป็นคนไม่แก่ ไม่ตาย ข้าจึงให้จับเจ้ามา"
นก. "ข้าแต่มหาราช ท่านผู้ใดได้กินเนื้อข้าพระองค์ ท่านผู้นั้นเป็นคนไม่แก่ไม่ตายสบายไป แต่ตัวข้าพระองค์สิต้องตาย"
ราชา. "ถูกละ เจ้าต้องตาย"
นก. "เมื่อข้าพระองค์ยังต้องตาย ก็แล้วท่านคิดเห็นกันอย่างไร จึงว่าได้กินเนื้อของข้าพระองค์แล้วจักไม่ตาย"
ราชา. "เขาว่า เพราะเจ้ามีขนเป็นสีทอง หายากนัก เพราะฉะนั้น ผู้ใดกินเนื้อของเจ้าแล้วจักไม่แก่ไม่ตาย"
นก. "ข้าแต่มหาราช ที่ข้าพระองค์เกิดมามีขนเป็นสีทองนี้ จะเป็นขึ้นเองโดยไม่มีเหตุหามิได้ ข้าพระองค์จะกราบทูลเหตุให้ทรงทราบ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้แหละ ข้าพระองค์รักษาเบญจศีลเป็นนิจ และชวนชาวประชากรในพระราชอาณาเขตให้รักษาด้วย ข้าพระองค์ตายไปเกิดในภพดาวดึงส์อยู่จนสิ้นอายุในภพนั้น แล้วจึงมาเกิดในกำเนิดนกยูงนี้เพราะผลแห่งอกุศลกรรมอย่างหนึ่งตามมาให้ผล ที่ขนของข้าพระองค์เป็นสีทองก็ด้วยอานุภาพแห่งเบญจศีลที่ได้รักษาแต่ปางบรรพ์นั่นเอง"
ราชา. "เจ้ากล่าวว่า เจ้าเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้ ฯลฯ คำที่เจ้ากล่าวมานี้พวกเราจะเชื่อได้อย่างไร มีอะไรเป็นสักขีพยานบ้างหรือไม่"
นก. "มี พระเจ้าข้า"
ราชา. "อะไรเล่า"
นก. "ในเวลาที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ข้าพระองค์นั่งรถประดับด้วยแก้ว ๗ ประการแล้วเหาะไปได้ รถคันนั้นข้าพระองค์ให้ฝังจมไว้ใต้พื้นสระมงคลโบกขรณี ขอพระองค์จงรับสั่งให้กู้รถคันนั้นขึ้นมาเถิด รถนั้นจักเป็นสักขีของข้าพระองค์"
พระราชารับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระ แล้วให้จัดการกู้รถขึ้นมาได้ จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้โอกาสก็แสดงธรรมแก่พระราชา ขอให้พระราชาทรงตั้งอยู่ในเบญจศีล พระราชาทรงเลื่อมใสมาก ทรงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ (คือยกราชสมบัติให้ครอบครอง) พระโพธิสัตว์รับแล้วก็ถวายคืนแด่พระราชา อยู่อีก ๒-๓ วัน ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วก็บินกลับสู่ภูเขาทัณฑกหิรัญบรรพตอันเป็นนิวาสสถานนั้นแล.