เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ภัยและเหตุปัจจัยที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อม
18 พ.ค. 2558

 

 

ประวัติศาสตร์, โหราศาสตร์, อาจารย์แอน, ajarnann

 

 

               จะขอกล่าวเท้าความถึงการเสด็จจาริกของพระพุทธองค์  หรือการเสด็จจาริกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นประเพณี  เมื่อเสด็จจาริกไปในชนบท  ก็เสด็จไปในมณฑลทั้งสาม  คือมหามณฑล  มัชฌิมมณฑล  และอันติมณฑล  ตอนเสด็จนี้เรียกว่า ไม่รีบจาริก  เป็นไปตามกฎเกณฑ์  คือการเสด็จจากมณฑลใหญ่ไปหามณฑลน้อย  ส่วนการจาริกอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “รีบจาริก “  คือรีบเสด็จไปเพื่อโปรดบุคคลที่ควรจะได้รู้เป็นการเฉพาะเจาะจง  โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะทางว่าใกล้หรือไกล  เช่น  การเสด็จไปต้อนรับ  ปิปผลิมาณพ  ซึ่งภายหลังก็เป็นพระมหากัสสปะเถระ    ขณะเดินทางมาขอบวชในระหว่างนาลันทากับกรุงราชคฤห์   จาริกไปเพื่อโปรดอาฬวกยักษ์  ที่เมืองอาฬวี  และเพื่อโปรดองคุลีมาลที่เมืองชาลินี  ที่แคว้นโกศล  เป็นต้น  เป็นการจาริกเฉพาะ

 

                พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปรกติจะปราศรัยกับภิกษุทั้งหลาย  อาคันตุกะ  อันเป็นพุทธประเพณีด้วย  การตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ร่างกายของพวกเรายังพอทนได้หรือ  พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ  พวกเธอยังเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน  ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน  อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก  และไม่ลำบากด้วยอาหารที่บิณฑบาตหรือ “   เหมือนกับทักทายว่าสบายดีหรือเปล่านะค่ะ  จะทักทายว่า   ร่างกาย สุขภาพ เป็นอย่างไร  พร้อมเพรียงกัน  ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน  อยู่จำพรรษาเป็นสุขไหม  หรือลำบากในการบิณฑบาตหรือเปล่า  เป็นคำทักทายที่เป็นพุทธประเพณี 

 

                และพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งที่ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี  ย่อมไม่ตรัสถามก็มี  ทรงทราบการณ์แล้วตรัสถาม  ทรงทราบการณ์แล้วไม่ตรัสถาม เป็นพุทธประเพณีอีกเหมือนกัน  ย่อมตรัสถามในสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์  ไม่ตรัสถามในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เสมอ  พระพุทธเจ้าทรงเอื้อนเอ่ยวาจาออกมา  ย่อมเกิดประโยชน์ทั้งสิ้น  และยังทรงอบรมภิกษุทั้งหลาย  ด้วยอาการ  ๒  อย่างคือ  การแสดงธรรม  และการบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย   ปัญหานี้เป็นการเกริ่นก่อนที่จะกล่าวถึงทางพุทธศาสนา  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสถึงภัยอนาคต อันเป็นความเสื่อมของพุทธศาสนา  ไว้ในอังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาตข้อ  ๘๐    กล่าวถึงภัยในอนาคต  ๕  ประการ  ซึ่งยังไม่ได้บังเกิดในตอนนั้น  แต่จะบังเกิดในกาลต่อไป  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐  ปีที่แล้ว  และทรงตรัสว่าภัยทั้งหลายนั้น  อันเธอทั้งหลายควรรู้ไว้  ครั้นรู้แล้ว  เธอพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้นเสีย

 

                ๑.ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลาย จะเป็นผู้ชอบจีวรในนาม  ไม่ชอบจีวรในงาน  จะละความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร(ในสมัยนั้นถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)  จะประชุมกันอยู่ตามทางนิคมในงาน (ที่ชุมชน  ผู้อยู่อาศัย)  และราชธานี(อยู่ในเมืองใหญ่)  จะถึงการแสวงหาที่อันไม่สมควร  ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เพราะเหตุแห่งจีวร

 

                ๒.ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลาย จะเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม  ไม่ชอบบิณฑบาตที่มีงาน  ก็จะละความเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร  คือเดินออกไปบิณฑบาต  จะประชุมกันอยู่ตามทาง (เมือง)  นิคม   และราชธานี  แสวงหาบิณฑบาตที่มีรสเลิศด้วยกายลิ้น  ประจักษ์ถึงการแสวงหาที่ไม่สมควร  อันไม่เหมาะสมต่าง ๆ  เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต  (การบิณฑบาตคือการขอโดยดุษฎีภาพเป็นลักษณะเด่น  เพราะคำว่าภิกษุคือผู้ขอจริง ๆ  จึงเป็นผู้ที่ต้องออกบิณฑบาต)

 

                ๓.ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลาย จะเป็นผู้ชอบเสนาสนะที่ดีงาม(อยู่ในเมือง)   ไม่ชอบเสนาสนะที่มีงาน  ก็จะละความเป็นผู้ถือกายอยู่ป่า  วัด  ละเสนาสนะอันสงัด  คือป่า และป่าชัฏ  จะประชุมกันอยู่ตามทางนิคม  และราชธานี  จะแสวงหาการณ์อันไม่สมควรอันไม่เหมาะสมกับกาล  เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ(รวมถึงเครื่องอัฏฐะบริขาร  ทั้งหมดด้วย)

 

               ๔.ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลาย จะเป็นผู้อยู่คลุกคลีด้วยภิกษุณี  สามเณรี  กิจของฆารวาทและไสยศาสตร์  เพื่อหวังได้ว่าเธอเหล่านั้นจะไม่เป็นผู้ยินดีประพฤติพรหมจรรย์  จะต้องอาบัติเศร้าหมองบางประการ  หรือก่อคืนสิกขา  เวียนมาเพื่อความเป็นคฤหัสถ์  เพราะเหตุแห่งการคลุกคลีนั้น

 

               ๕.ในอนาคต  ภิกษุทั้งหลาย จะเป็นผู้อยู่คลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ  เมื่อมีการคลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ  พึงหวังได้ว่า เธอเหล่านั้นจะเป็นผู้ประกอบด้วยการบริโภคของที่สะสมไว้ มีประการต่าง ๆ   จักทำนิมิตแม้อย่างหยาบในแผ่นดินบ้าง  ที่ปลายขอบเขียวบ้าง  (สร้างวัตถุพุทธพาณิชย์แบบที่เราได้เห็นกัน)

 

                ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภัยในอนาคตทั้ง ๕  ประการที่ยังไม่บังเกิดในบัดนี้  แต่จะบังเกิดในกาลต่อไป  ภัยนั้นอันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ      ครั้นแล้วพึงละภัยเหล่านั้น  อันเป็นความเสื่อมของภัยพระพุทธศาสนาในอนาคตกาล    เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้  ก่อนพุทธกาล   ๒๕๐๐  ปี  ที่สามารถจะดูจริยาของภิกษุได้  แต่พระพุทธศาสนาจะคงอยู่ถึง ๕๐๐๐ ปี  ฉะนั้นสิ่งที่เห็นในปัจจุบันยังเป็นส่วนน้อย  อย่างไรก็ตามยังเคยตรัสถึงเหตุที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อม  คือในสมัยหนึ่ง  ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ในเวฬุวันวิหาร  พระกิมพิละเข้าไปกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อะไรหนอ  เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นาน  หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  ดูก่อนกิมพิละ  เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว  หากพวกภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ที่

 

               ๑.ไม่มีความเคารพ   ไม่มีความยำเกรงในพระศาสดา

 

               ๒.ไม่มีความเคารพ   ไม่มีความยำเกรงในพระธรรม

 

               ๓.ไม่มีความเคารพ   ไม่มีความยำเกรงในพระสงฆ์

 

               ๔.ไม่มีความเคารพ   ไม่มีความยำเกรงในสิกขาบท

 

               ๕.ไม่มีความเคารพ   ไม่มีความยำเกรงซึ่งกันและกัน

 

               “ดูก่อนกิมพิละ   ปฏิปทานี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรม  ไม่ดำรงอยู่ได้นาน “  พระกิมพิละก็ทูลถามว่า “  และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม  ดำรงอยู่ได้นาน “ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ตอบว่า  ถ้าหากว่าเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว  หากพวกภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ในธรรมวินัยนี้  เป็นผู้ที่มีความยำเกรงในพระศาสดา (พระพุทธ)  มีความเคารพยำเกรงในพระธรรม(คำสั่งสอน)  มีความเคารพมีความยำเกรงในพระสงฆ์(เคารพนบนอบในพระสงฆ์)  มีความเคารพมีความยำเกรงในสิกขาบท  (ภิกษุ  ภิกษุณี อุบาสก  อุบาสิกา  ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่หลอกลวงกัน)  และมีความเคารพมีความยำเกรงซึ่งกันและกัน  ปฏิทานี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรม  ดำรงอยู่ได้นาน

 

               ถ้าเมื่อใดก็ตาม เราขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน  ขาดความอ่อนโยน  ขาดปิยวาจา  ไม่มีความยำเกรง   ไม่มีการเกรงใจกัน  จ้วงจาบซึ่งกันและกัน  จะเป็นความเสื่อมของพระศาสนาเหมือนกัน  พระพุทธศาสนาจะเสื่อมด้วยภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกาหรือพุทธบริษัทสี่  ก็จะมาจากตรงนี้นั่นเอง  รวมความแล้ว เหตุที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเป็นที่พระภิกษุเอง    มีจิตใจที่ยังตัดไม่ขาดกับจีวร  การบิณฑบาต  เสนาสนะ  หรือชอบที่จะคลุกคลีหรือเสวนาคฤหัสถ์ทั้งหลาย  ก็จะเป็นภัยในอนาคตที่จะทำให้เสื่อมพระศาสนาประการหนึ่ง  รวมทั้งภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกาด้วย  ขาดความเข้าถึงหรือความเคารพในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  และยังไม่เคารพซึ่งกันและกันอีกด้วย

 

               เราเป็นพุทธศาสนิกชน  ทุกวันนี้มีการนำพระพุทธศาสนามากล่าวถึง  แต่ในการกล่าวถึงจะเป็นลักษณะการส่งเสริมและสนับสนุน  หรือเห็นข้อผิดก็พยายามหาทางช่วยกันแก้ไข  ถ้าเป็นลักษณะนี้จะน่าชื่นชม  แต่ถ้าเป็นลักษณะที่ทำให้พระสงฆ์แตกกัน  จะบาปมา  และจริง ๆ แล้วการสืบพระศาสนา  ไม่ใช่เป็นการทำบุญ สร้างวิหารหรือก่อสร้างวัตถุเพียงอย่างเดียว  แต่จะต้องปฎิบัติถึงพร้อมด้วยกันทุกฝ่าย  เหมือนกับที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้แล้ว  ศาสนาก็จะไม่เสื่อม

 

               ส่วนการตำหนิติเตียนกัน  ก็ควรจะเป็นไปในลักษณะ  ก่อ  สร้าง  ฟังแล้วรื่นหู  ฟังแล้วสบายใจ  ฟังแล้วกลับไปคิดถึงสมัยพุทธกาล  พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร   หรือผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าตัวเราจะต้องเป็นผู้รักษา   ตัวเราเป็นพระภิกษุ  เราจะต้องเป็นผู้ไม่ติดกับจีวรอันที่ดีงาม  ไม่เสวนาคฤหัสถ์  ไม่ว่าจะเป็นบุรุษ หรือสตรีมากเกินไป  และทุก ๆ คนทั้งหลาย  ทุกหมู่  ทุกเหล่า  มีความเคารพยำเกรงในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ในวินัยแต่ละบุคคลไม่ว่าจะเป็นฆราวาส  หรือผู้ใดก็ตาม   รักษาวินัยด้วยตนเอง  รักษาความเคารพซึ่งกันและกัน  ศาสนาก็จะไม่เสื่อม  แต่หากเรายึดติดว่ากล่าวกัน  เป็นการทำลายกัน  ส่อเสียด  ยุยง  หรือกล่าวแล้วเกิดความสลดหดหู่ใจ  จะเป็นบาปและผิดศีลข้อหนึ่งคือ  กรรมบถ  ในเรื่องของวาจา  เราอาจจะพลาดไปในตอนไหนก็ได้  จะไม่เกิดการสร้างสรรค์  การพูดและสืบพระศาสนา  จะต้องระมัดระวังเหมือนกัน  ดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร

 

               ท่านผู้อ่านได้อ่านถึงตรงนี้  สามารถสรุปได้ว่าพุทธศาสนิกชนมีความสามารถในการแยกแยะ  สิ่งที่ได้เห็นได้ฟังมา  เกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์เป็นการสร้าง  หรือการทำลาย  จะสามารถแยกแยะว่าคำพูดชนิดใดเป็นคำพูดที่ผสมไปด้วยอคติ  โมหะ  โทสะ  หรือฉันทาคติ  หรือพูดไปแล้วเป็นคำกลาง ๆ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกคนจะทราบดีอยู่แล้ว  เพียงแต่วันนี้ได้ยกเอาข้อความในพระสูตร  โดยเฉพาะที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในพรรษาที่๑๙ มาให้ได้อ่านกัน  แม้ว่าพระองค์ทรงตรัสไว้สั้น  แต่ความหมายลึกซึ้งนะค่ะ