- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
3 ก.พ. 2560
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร นครราชคฤห์ แคว้นมคธ ประชาชนทั้งหลายต่างพากันมาฟังพระธรรมเทศนาอยู่เป็นนิจ ในจำนวนนี้มีบุตรชายเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “ติสสกุมาร” ด้วย
เมื่อติสสากุมารได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงขอบวชเป็นภิกษุในสำนักของพระบรมศาสดา ณ เวฬุวันมหาวิหารนั่นเอง
ต่อมาประมาณครึ่งเดือน พระพุทธองค์เสด็จจากเวฬุวันมหาวิหารไปยังแคว้นโกศล เพื่อประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี พระติสสะก็ตามเสด็จด้วย และตลอดเวลาที่อยู่นครสาวัตถี พระติสสะตั้งใจปฎิบัติธรรมวินัยและรักษาธุดงค์อย่างเคร่งครัด จนกระทั่งล่วงเลยไป 10 ปี คนทั้งหลายเห็นจริยวัตรอันงดงามสม่ำเสมอของท่าน ก็พากันนิยมยกย่องและสรรเสริญว่า พระติสสเถระตั้งใจปฎิบัติธรรมเคร่งครัดราวกับพระมหากัสสปะ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเลิศในทางถือธุดงค์
ฝ่ายบิดามารดาของพระติสสเถระ ก็รอคอยวันที่พระติสสะจะสึกออกมา เพราะทั้งสองมีลูกชายเพียงคนเดียว ซึ่งขณะนั้น นางวัณณทาสีอาสาจะไปสึกพระลูกชายให้ โดยมีข้อแม้ว่า หากนางทำสำเร็จต้องรับนางไว้เป็นสะใภ้ ซึ่งท่านผู้เฒ่าทั้งสองก็ยินยอม
ก่อนออกเดินทาง นางวัณณทาสีได้สอบถามอุปนิสัยใจคอของพระติสสะเถระ สมัยเป็นฆารวาสโดยละเอียด พร้อมทั้งขอเสบียง อาหาร ยานพาหนะ และข้าทาสบริวารจำนวนมาก ไปคอยรับใช้นางอีกด้วย
นางวัณณทาสีได้ดำเนินการราวกับธิดาเศรษฐีผู้มีสกุลในนครสาวัตถี นางได้พักในคฤหาสน์อันโอ่อ่าซึ่งอยู่ใกล้ทางที่พระติสสเถระจะต้องบิณฑบาตผ่านมาทุกวัน
ทุกๆ เช้า เมื่อพระติสสเถระบิณฑบาตผ่านมา นางวัณณทาสีจะนำอาหารที่ท่านโปรดปราน ซึ่งนางได้ปรุงรสอย่างปราณีต รสดีเลิศมาถวาย แล้วคอยสังเกตดูพระเถระว่า จะมีความยินดีเพียงใด
พระติสสเถระนั้น ถึงแม้จะรักษาธุดงค์อย่างเคร่งครัดมานานนับสิบปี แต่ก็ยังเผลอสติไม่ได้พิจารณาก่อนฉัน เมื่อได้รับอาหารที่ถูกปากเสมอๆ ก็คลายความเพียรลง เลิกรักษาธุดงค์เกี่ยวกับการบิณฑบาตเสีย ในเวลาต่อมา ก็รับนิมนต์มาฉันที่บ้านของนางวัณณทาสีด้วย
เวลาผ่านไป จนนางวัณณทาสีแน่ใจว่าพระติสสเถระติดใจในรสอาหารของนางแน่แล้ว วันหนึ่งจึงแกล้งทำป่วยนอนซมอยู่ในห้อง เมื่อพระติสสเถระมาบิณฑบาตถึงบ้าน ไม่เห็นนางออกมาใส่บาตรเช่นเคย จึงเข้าไปในบ้านถามถึงนาง คนรับใช้จึงตอบว่า
“นายผู้หญิงเป็นไข้นอนซม บ่นว่าอยากพบพระคุณเจ้า”
พระติสสะเกิดความห่วงใย จึงเผลอสติจนลืมสมณวิสัย ขาดความสำรวมระวังอินทรีย์ เข้าไปหานางถึงในห้องนอน เมื่ออยู่ตามลำพัง นางวัณณทาสีทำมารยาต่างๆ ในที่สุด พระเถระต้องสึกจากเพศบรรพชิต เป็นที่เลื่องลือด้วยความเสียดายพระติสสเถระ ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ต้องมาสึกเพราะติดในรสอาหารของนางวัณณทาสี
พระพุทธองค์ทราบความ จึงประชุมสงฆ์ ตรัสเล่าชาดก “วาตมิคชาดก” ความว่า
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ พระราชอุทยานของพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งนครพาราณสี มีเนื้อสมันตัวหนึ่งเดินหลงทางเข้ามา นายสัญชัยคนเฝ้าอุทยาน ก็ไม่ได้ขับไล่แต่อย่างใด วันต่อๆ มา เนื้อสมันจึงเดินเข้ามาและเล็มหญ้าในอุทยานอีก
นายสัญชัยก็ได้แต่รายงานให้พระเจ้าพรหมทัตทราบ พระองค์มีความแปลกพระทัยมาก จึงทรงให้จับเนื้อสมันตัวนั้นมา นายสัญชัยจึงขอพระราชทานน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง แล้วนำไปทาตามใบหญ้าในบริเวณที่เนื้อสมันชอบมาหากิน เมื่อเนื้อสมันได้ลิ้มรสน้ำผึ้งก็ติดใจ จึงมาเลียน้ำผึ้งเสมอๆ แม้หญ้าที่ทาน้ำผึ้งซึ่งอยู่ในมือของนายสัญชัย เนื้อสมันก็ยังกล้าเข้ามากิน
เมื่อนายสัญชัยเห็นว่า เนื้อสมันติดในรสน้ำผึ้งแล้ว จึงนำเสื่อมากั้นทางเดินเป็นช่องจากพระราชอุทยานไปจนถึงพระราชวัง แล้วตัดกิ่งไม้ปักพรางตาไว้ จากนั้นก็เอาน้ำผึ้งทายอดหญ้า วางล่อเนื้อสมัน เนื้อสมันหลงกลเดินเลียน้ำผึ้งไปถึงเขตพระราชวัง จึงถูกกักตัวไว้
เนื้อสมันเห็นคนมากมายก็ตกใจกลัวจนตัวสั่น พระเจ้าพรหมทัตเสด็จลงมาทอดพระเนตร จึงตรัสว่า
“ธรรมดาเนื้อสมันจะไม่ไปยังที่ซึ่งตนได้เห็นคนถึงเจ็ดวัน และจะไม่ไปยังที่ซึ่งตนเคยถูกคุกคามตลอดชีวิต แต่เนื้อสมันนี้อาศัยอยู่ในป่าลึกแท้ๆ ยังมาอยู่ในสถานนี้ได้ นี่เป็นเพราะมันติดใจในรสอาหาร จึงลืมตัวลืมตาย ในโลกนี้ไม่มีอะไรจะเป็นโทษมากกว่าการติดในรสเลย”
แล้วพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นพระคาถา มีเนื้อความว่า
“การติดถิ่นฐานที่อยู่อาศัยก็ดี ความคุ้นเคยต่อมิตรก็ดี ล้วนไม่เลวร้ายเท่าการติดรส สัญชัยคนเฝ้าสวนต้อนเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ในป่า ให้มาสู่อำนาจของตนได้ด้วยเหตุนี้”
แล้วโปรดให้ปล่อยเนื้อสมันเข้าป่าไป
พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า
นายสัญชัยคนดูแลอุทยาน ได้มาเป็นนางวัณณทาสี
เนื้อสมัน ได้มาเป็นพระติสสเถระ
พระเจ้าพรหมทัตได้มาเป็นพระองค์เอง
คติที่ได้จากชาดกเรื่องนี้
คนเรามักจะติดถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจเป็นโทษได้ ในแง่ที่อาจขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของตนเอง ตัดโอกาสในการเรียนรู้ที่จะปรับหรือพัฒนาตนเอง ในสถานที่ที่อาจจะดีกว่า
คนเรามักติดเพื่อน จะทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องมีคนช่วยชี้แนะให้เป็นประจำ จะทำอะไรตามลำพังก็ไม่กล้า ถ้าเป็นมาก อาจมองไม่เห็นความสามารถของตนเอง และไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเอง ยิ่งไปได้เพื่อนที่ไม่ดี เรายิ่งอาจเสียอนาคตไปเลย
การติดในรส ทำให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เสียเวลา หรือเกิดโรค เพราะรับประทานอาหารมากเกินไป และการแสวงหาอาหารเพื่อสนองการติดรสของคนนั้น บางครั้งก่อให้เกิดความผิดพลาดอื่นๆ ตามมา เช่น ทำให้ติดเหล้า ติดยาเสพติด หลงเข้ากลุ่มนักเลง ละเลยครอบครัว สร้างความหายนะให้ตนทุกๆ ที่
ข้อสำคัญ หากว่านักปฏิบัติที่ยังติดในรสอาหาร อาจจะทำให้เกิดโทษได้ คือถ้ากินมากเกินไป จะทำให้ง่วง ทำสมาธิได้ไม่ดี อีกทั้งเสียเวลาปรุงแต่งสรรหาอาหารโดยใช่เหตุ รวมทั้งทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน กามกำเริบได้ง่าย
สำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่บวชมานาน หากยังไม่รู้บรรลุธรรมแล้ว ยังมีโอกาสพลาดได้เหมือนพระติสสเถระในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงไม่ควรตำหนิพระภิกษุสงฆ์ที่ตระหนี่ตัว ไม่รับนิมนต์ไปบ้าน ไม่ถือความคุ้นเคยกับชาวบ้าน เพราะไม่ต้องการไปอยู่ในบรรยากาศอย่างฆราวาส อันจะทำให้เสียเวลาในการปฎิบัติธรรม
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้