เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ผู้ขอไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ ตอนที่ ๑
10 ก.พ. 2560

 

ในพระไตรปิฎก ได้บรรจุคำสอนหลักที่ถือว่าเป็นของเดิมแท้ในพระพุทธศาสนา ทั้งเป็นคัมภีร์ใหญ่ที่มีเนื้อหาสาระมากมาย สุดปัญญาของผู้ที่ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือจะอ่านได้ทั่วถึง ถือเป็นเรื่องสุดวิสัยก็ว่าได้สำหรับผู้ที่หาเวลาได้ยากที่จะทำความเข้าใจ

 

ปัจจุบันนับว่าโชคดีอย่างยิ่ง ที่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้เรียบเรียงและคัดลอกข้อความจากบทต่างๆ ในพระไตรปิฎก เป็นหมวด เป็นตอน ทั้งยังใช้ภาษาที่อ่านง่าย แปลง่าย มีลักษณะทำนองพระไตรปิฎกฉบับย่อให้พอรู้พอเข้าใจ

 

จากหนังสือ “คำบรรยายพระไตรปิฎก”  ของท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้อธิบายถึงความเป็นมาของพระไตรปิฎกว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น หลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระองค์ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่หรือเป็นระเบียบแบบแผนแต่อย่างใด พุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันสมัยนั้น ๒ อย่างคือ

 

     ๑. พรหมจรรย์  ดั่งพุทธวจนะที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันต์สาวก 60 รูป ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาครั้งแรกว่า

 

     “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง"

 

     ๒. เรียกว่า ธรรมวินัย  ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชา ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า

 

     “ดูก่อนอานนท์ ธรรม และ วินัย ใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรม และ วินัย นั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว”

 

โดยสรุปว่า พระไตรปิฎก ได้กำเนิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว โดยแบ่งออกเป็น

 

     ๑. พระวินัยปิฎก  ว่าด้วยวินัยหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของพระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์

 

     ๒. พระสุตตันตปิฎก  ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง คำบรรยายธรรมบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป

 

     ๓. พระอภิธรรมปิฎก  ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนในเชิงปรัชญาในพระพุทธศาสนา

 

ที่พูดคุยเชิงบรรยายวิชาการ ชักแม่น้ำทั้งห้ามานี้ สรุปแล้วจะเล่าบางส่วนที่นำมาจากพระไตรปิฎก ในส่วนของพระวินัย ซึ่งในที่นี้จะเป็นเรื่องของ “ผู้ขอ ไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ” ตามที่ขึ้นหัวเรื่องไว้

 

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห ครั้งนั้น พระภิกษุชาวอาฬวี สร้างกุฎิที่พักของตนใหญ่โตไม่มีกำหนด จึงต้องใช้วัสดุในการก่อสร้างมากมายและสำเร็จยาก จึงต้องขอสิ่งของและอุปกรณ์การก่อสร้างจากชาวบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า แม้กระทั่งแรงงานก็ต้องขอมาช่วย

 

ชาวบ้านแถบนั้น ต่างมีความเอือมระอาไปตามๆ กัน เมื่อเห็นพระเดินมา ก็พากันเดินหลบหลีก บ้างปิดประตูหน้าต่าง เมินหน้าทำเป็นไม่เห็นบ้าง หวาดระแวงถึงขนาดเห็นแม่โคสีคล้ายจีวรพระก็พากันหนี ด้วยคิดว่าพระมาเรี่ยไรอีกแล้ว เป็นต้น

 

ต่อมา พระมหากัสสป เดินทางไปรัฐอาฬวี ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านหมู่นั้นเห็นแล้วพากันหวาดสะดุ้งและหลบหนี ยังความประหลาดใจให้เกิดแก่ท่าน เพราะไม่เคยพบมาก่อน ท่านจึงคิดว่าจะต้องมีเหตุมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นแน่

 

เมื่อท่านได้สอบถามพวกภิกษุเหล่านั้น ทราบความแล้วจึงรู้สึกสลดใจมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงรัฐอาฬวี พระมหากัสสปจึงได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิการกระทำของพวกภิกษุเหล่านั้นว่า เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของหมู่ชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของหมู่ชนที่เลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว

 

ทรงติเตียนภิกษุชาวอาฬวีว่าเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก เป็นคนมักมาก ไม่สันโดษ คลุกคลี เป็นต้น แล้วส่งนำเอาเรื่องโทษของคนขอ มาจัดแสดงไว้ดังนี้