เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

การถวายสิ่งของในพุทธศาสนา
4 มี.ค. 2560

 

คำถาม : ในเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนนางพิมปลดผ้าที่ห่มตัวมาถวายบูชากัณฑ์เทศน์ ผมสงสัยว่าของที่นำมาถวายเป็นพุทธบูชาหรือถวายแก่สงฆ์นั้น ถ้าเป็นของใช้แล้วอย่างผ้าของนางพิม โดยเฉพาะนางพิมเป็นหญิงด้วย อย่างนี้จะเหมาะสมหรือ
 
คำตอบ : ในสมัยพุทธกาล นายทุคตะได้ถอดเอาผ้าเตี่ยวที่มีอยู่ผืนเดียว ที่ทั้งเก่า ขาดและสกปรก ถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากที่ได้ฟังเทศนาในเรื่องของการให้ทาน ตอนนั้นเกิดจากจิตที่ปิติ มีการสละอย่างสูงสุดในของที่มีในขณะนั้น คือของที่รักที่จำเป็นของตน ถ้าคิดแบบนี้ จะสละอะไรก็ได้ ตอนที่นางพิม ปลดผ้าห่มตัวถวายบูชากัณฑ์เทศน์ เลื่อมใสอะไร ถ้าเลื่อมใสในพระเวสสันดรซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วถอดถวายเป็นพุทธบูชา บุญก็มหาศาล แต่ถ้าถวายเพราะเณรเทศน์เพราะ บุญก็ลดลงมา
 
อาจารย์ก็เคย ตอนไปทำบุญ สวมกำไลไป กำไลมีค่าน้อยนิดในขณะนั้น ทั้งเนื้อทั้งตัว มีกำไลมีค่าที่สุด เลยถวายแทนตัวเป็นพุทธบูชา ด้วยความเลื่อมใสเคารพในพระพุทธองค์
 
เป็นสิ่งที่เรารัก เราใช้อยู่เสมอ ไม่ได้ตั้งใจมาจากบ้านว่า อันนี้ใช้แล้ว เอาไปถวายดีไหม ณ ขณะนั้น เป็นความปิติปัจจุบันทันด่วนแล้วถอดถวาย แบบนี้ไม่เป็นไร ถือว่าได้บุญ คิดแล้วทำเลย จะได้บุญสูงด้วย เหมือนอย่างนายทุคตะที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า หากถวายเลยไม่ลังเล จะได้เป็นมหาเศรษฐี แต่เพราะลังเลว่า ถ้าถวายไปแล้ว เมียจะนุ่งอะไร เพราะมีอยู่ผืนเดียว จากยามหนึ่ง ลังเล มาถวายเอายามสาม จึงได้เป็นเพียงเศรษฐี ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีประจำเมือง แสดงว่า จริงๆ แล้ว อยู่ที่ใจ ถ้าเริ่มคิดตอนนั้น ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เกิดความปิติสูงสุดแล้วถวาย เป็นการตัดความตระหนี่ มัจฉริยะหรือความโลภออกไปโดยสิ้นเชิง สละเป็นจาคะ คือเรียกว่าทำทานในลักษณเทหมดมือ แบบนี้ถือเป็นอานิสงค์ไม่ว่าจะถวายอะไรก็ตาม