- ฮวงจุ้ยพื้นฐาน
- รูปภาพและความหมาย
- ฮวงจุ้ยสำนักงาน
- ฮวงจุ้ยที่ดิน
- ฮวงจุ้ยร้านค้า
- ฮวงจุ้ยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
- ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย
- ทำเลเสียดูอย่างไร
- ดาว ๙ ยุคคืออะไร
- ดวงจีน
- การดูลักษณะภูเขา
- กรณีศึกษาฮวงจุ้ย
- ประสบการณ์การดูทำเลของอาจารย์แอน
- คำคม..ข้อคิด
- เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา
- เกร็ดความรู้ที่ได้จากวรรณคดี
- บทความพิเศษ
27 ก.พ. 2559
สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุขหลังจากทรงตรัสรู้ รวมแล้ว เจ็ดแห่ง สี่ทิศ แห่งละ ๗ วัน รวม ๔๙ วัน ตามสถานที่ต่างๆ คือ ที่โพธิบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ ต้นอัชปาลนิโครธ ต้นมุจรินทร์ ต้นราชายตนะ รวมเรียกว่า สัตตมหาสถาน ซึ่งนับเป็นพุทธเจดีย์ซึ่งผู้ใดจาริกมาแล้ว ควรที่จะได้ถวายการสักการะให้ครบทุกแห่ง จัดว่ามีอานิสงค์มากแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นพุทธศาสนิกชนเกือบทุกมุมโลกพากันมา ณ พุทธคยาแห่งนี้ ซึ่งจะแยกแยะได้ดังนี้
นับแต่วันแรกที่ตรัสรู้ ประทับอยู่บนโพธิบัลลังก์ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าอยู่ภายใต้เจดีย์มหาโพธิ์นี้แหละ ที่พระเจ้าอโศกได้สร้างครอบไว้ เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ไม่สมควรให้ใครได้เหยียบหรือจ้วงจาบ และในสัปดาห์แรกพระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญถึง ปฎิจจสมุปบาท อันได้แก่
อวิชชา ความหลงและการกำหนดว่าคนเราต้องเกิด มีชาตินี้ชาติหน้า
สังขาร เมื่อเกิดก็ปรุงแต่ง ฟุ้ง และกำหนดว่าเด็ก ว่าหนุ่ม ว่าแก่ ว่าต้องอย่างนั้น อย่างนี้ ปรุงเรื่อยไปจนเริ่มมีจิต
วิญญาน คือ ความรับรู้ความเป็นตัวตน
รูป คือ ตัวตน ที่มีองค์ประกอบที่จะให้มีความรู้สึกโดยสมบูรณ์
อายะตนะ ด้วยอวัยวะต่างๆที่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู รู้ด้วยกลิ่น รับรสด้วยลิ้น
ผัสสะ คือตัวสัมพันธ์ ที่ทำให้ลงลึกไปถึงวิญญานความรู้สึก และเริ่มเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ
เวทนา คือ ความทุกข์สุขกับสิ่งที่รับไปถึงจิต
ตัณหา เกิดความชอบไม่ชอบ อยากให้คงอยู่ ไม่อยากให้สญสลายไป
อุปาทาน และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ว่าเป็น ตน ของตน ไม่ใช่ของตน
ภพ คือ การเวียนว่ายไปกับอารมณ์ ความรู้สึก ความเป็นตัวตนอย่างนั้น
ชาติ-ชรา เวียนว่ายไปกับการเกิดและดับ อยู่กับการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงวนเวียนพินิจพิจารณาอย่างนั้นหลายเที่ยว ก็ทรงเปล่งอุทานว่า " เราหนอ ท่องเที่ยวมานาน ๔ อสงไขย กับแสนกัป ขึ้นชื่อว่า ชาติ ชรา มรณะจะไม่มีกับเราอีก"
เราน้อมนมัสการ ณ โพธิบัลลังก์นี้แล้วก็ทำจิตใคร่ครวญพินิจพิจารณา ในแนว ปฏิจจสมุปบาท เราจึงจะได้อานิสงค์ของการบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์
ในวันที่แปด พระพุทธองค์ทรงเสด็จเลื่อนไปทางขวาด้านทิศเหนือ ที่นั้นจะปรากฏให้เห็นปัจจุบัน เป็นเจดีย์ทาสีขาว เรียกว่า อนิมิสเจดีย์ สถานที่นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ขจัดความสงสัยเหล่าเทวดา เพราะพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะแสดงยมกปาฏิหารย์ได้ หลังจากนั้นทรงประทับยืนด้านทิศเหนือ ลืมพระเนตรแลดูบัลลังก์และต้นโพธิ์ อันเป็นสถานที่บรรลุผลแห่งบารมีทั้งหลาย ด้วยดวงเนตรที่ไม่กระพริบตลอด ๗วัน
ลักษณะนี้ เป็นสมาธิขั้นฌานสมาบัติแปดที่เข็มแข็งอย่างยิ่ง ในลักษณะสังขารุเบกขาญาน ที่สามารถมองโดยพระเนตรไม่กระพริบ เสมือนการเข้านิโรธที่ไม่มีลมหายใจ หมายความว่า อายตนะไม่มีผลต่อพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่ได้รับสัมผัสเช่นบุคคลธรรมดาแล้ว และสถานที่นี้แหละที่เรียกว่า อนิมิสเจดีย์ เมื่อเราเข้าไปน้อมมนัสการ พึงระลึกว่า ณ ที่นี้พระพุทธองค์ทรงตั้งใจที่จะแลดูสถานที่ซึ่งเป็นที่สุดของการบำเพ็ญบารมีอันแสนนานของพระองค์
เราจะลำบากทุกข์แค่ไหน ไม่เท่ากับการบำเพ็ญเพียรอันยาวนานของพระโพธิสัตว์เลย เราเองจะมีกำลังแก่กล้าในอันที่จะปฏิบัติตามแนวทางที่จะให้หลุดพ้นตามที่พระองค์ได้สอนไว้ เป็นอานิสงค์ที่เราจะได้มากราบนมัสการ ณ ที่แห่งนี้
และ ณ บริเวณข้างพระมหาเจดีย์ไปทางด้านทิศเหนือ เราก็จะเห็นหินสลักเป็นดอกบัวบาน จำนวน ๑๙ ดอก มีแท่นหินทรายยาวประมาณ ๖ เมตร และมีป้ายปักบอกไว้ว่า นี้คือ รัตนจงกรมเจดีย์ ที่พระพุทธองค์เสวยวิมุติสุขเป็นสัปดาห์ที่สาม ซึ่งเราจะสังเกตุได้ง่าย ว่าอยู่ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์
ระหว่างสองแห่งนี้ พระพุทธองค์ทรงเดินจงกรมจากตะวันตกไปตะวันออก ตลอดเจ็ดวัน ดังนั้น เราจะเห็นพุทธศาสนิกชน ต่างพากันเดินในลักษณะจงกรม เพื่อน้อมระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่สามนี้ และการน้อมบูชาอย่างนี้ จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรียกว่า ปฏิบัติบูชา
การเดินจงกรม สำรวมอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยสติกำกับนี้ จัดเป็นทางสายเอกในการที่จะบรรลุธรรม จึงเป็นการปฏิบัติที่เราควรมาเริ่มจริงจังที่สถานที่แห่งนี้ พร้อมอธิฐานจิตที่จะตั้งใจปฏิบัติให้เข้าถึงอย่างตั้งใจ เชื่อว่า จะมีผลด้าน พลังและกำลังใจอย่างแน่นอน
ในสัปดาห์ที่ ๔ พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปทางทิศเหนือของพระมหาเจดีย์ จะเห็นวิหารสี่เหลี่ยมไม่มีหลังคามุง รอบๆมีเจดีย์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ที่มีผู้นำมาประดิษฐานในภายหลัง มีป้ายปักว่า "รัตนฆรเจดีย์" เป็นสถานที่ที่ พระพุทธองค์ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีตลอดเจ็ดวัน
อรรกถาเล่าว่า เทวดาทั้งหลายได้เนรมิตรเรือนแก้วให้พระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิเพชรในซุ้มนั้น และทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอดเจ็ดวัน พวกเราคงทราบที่มาของพระพุทธรูปปางซุ้มเรือนแก้วแล้วว่า มาจากช่วงใดของพุทธประวัติ ที่เราเรียกว่า พระพุทธชินราช นั่นเอง และลักษณะการนั่งขัดสมาธิเพชรของหลวงปู่พรหมา ก็เป็นการน้อมปฏิบัติบูชาระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ ที่ ๔ ณ รัตนฆรเจดีย์ นี้
ในสัปดาห์ที่ ๕ ต้องผ่านบ้านนางสุชาดา ไปยังต้น อชปาลนิโครธ เป็นเนินดินสูง อยู่ระหว่างแม่น้ำโมหนี และเนรัญชรา ซึ่งตอนที่ข้าพเจ้าเดินทางไป แม่น้ำสองสายนี้แห้งไปหมด เหลือให้เห็นเพียงทรายในแม่น้ำเท่านั้น น่าคิดที่ว่า แม่น้ำนี้ เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว เป็นแม่น้ำที่พระพุทธองค์ทรงลอยถาดเสี่ยงทาย แต่ปัจจุบัน จะมีน้ำหลากตามฤดูกาลเท่านั้น เป็นคำถามที่ข้าพเจ้าจะหาคำตอบจากทุกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันครั้งนี้
ณ ควงไม้ไทรที่ชื่อ อชปาลนิโครธ นี้ พระพุทธองค์ทรงตรึกถึงบุคคลที่สมควรรับฟังคำสอน เปรียบดังเช่นบัวสี่เหล่า และท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาแสดงธรรม และสถานที่แห่งนี้อีกเช่นกัน เมื่อก่อนตรัสรู้ พระมหาบุรุษได้ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ซึ่งพวกเราที่จะเดินทางไปสังเวชนียสถานครั้งนี้ จะได้เยี่ยมชมบ้านของนางสุชาดาด้วย
สัปดาห์ที่ ๖ คือ ที่ สระมุจรินทร์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใครที่เรียนรู้ทิศนักษัตรของจีน จะทราบทันทีว่า ทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นทิศมะโรง งูใหญ่ อีกนัยหนึ่ง คือ ทิศของมังกรหรือพญานาคนั่นเอง อันนี้เราก็เดินไกลหน่อย
ตามพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับที่โคนไม้มุจลินท์เป็นเวลาเจ็ดวัน มีฝนพรำตลอด พญามุจลินท์นาคราช เข้าถวายอารักขาด้วยการแผ่พังพานพร้อมขนดเจ็ดรอบ เพื่อปกป้องพระพุทธองค์ จึงเป็นที่มาของ พระยานาคเป็นผู้รักษาพุทธศาสนา แต่มีเจ็ดเศียรนี่ อาจจะมีความหมายถึงขนดเจ็ดรอบก็ได้
และสัปดาห์ที่เจ็ด ทางด้านทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีต้นเกด เรียกว่า ควงไม้ราชายตนะ และที่ที่พระองค์ทรงเสวยวิมุติสุขนี้ ได้มีพ่อค้า ๒ พี่น้อง คือ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ที่เรารู้ว่าเป็นคนมอญ มาจากเมืองหงสาวดีนี่เอง ได้นำเกวียนบรรทุกสินค้ามาถึงที่ประทับ ได้ถวายข้าวสัตตุ ชนิดก้อนและชนิดผง
และครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่รับด้วยมือ ท้าวเทวราชทั้งสี่ จึงนำบาตรศิลา ๔ ใบ แล้วอธิฐานให้เป็นบาตรเดียว รับข้าวจากสองพ่อค้านั้น จากนั้นสองพี่น้องก็ประกาศตนเป็นอุบาสกขอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
เรื่องราวตอนนี้ ทำให้อยากเป็นคนหงสาวดี
เพราะวานิชสองคนนี้เป็นอุบาสกสองคนแรกในโลก ที่กล่าวถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต และได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเลิศกว่าอุบาสก ผู้ถึงสรณะก่อนผู้ใด
และตามประวัติที่เรารู้กันคือ สองพ่อค้า ได้รับประทานเกศาแปดเส้น เป็นที่มาของเจดีย์ชเวดากองที่เรารู้จักในปัจจุบัน
เกร็ดตอนนี้ ขอเล่าว่า เมื่อสองพ่อค้าถามถึงวิธีเก็บรักษาบูชาสรีระภาคของพระองค์ พระพุทธองค์ทรงปูผ้าสี่เหลี่ยม คว่ำบาตรลง และนำไม้มาทำประหนึ่งปักบนบาตรคว่ำ เป็นที่มาของลักษณะองค์เจดีย์ที่เรารู้จักกัน
ครั้นถึงวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ ๗ พระพุทธองค์จึงกลับมาประทับ ณ อชปาลนิโครธ อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเรามาถึงพุทธคยา เราต้องทำความเข้าใจไปถึงวันที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุข และน้อมระลึกบูชาด้วยการเดินจงกรม ปฏิบัติสมาธิ พิจารณาถึงคำสอนของพระองค์