เกร็ดความรู้จากพุทธศาสนา

 

ธรรมะจากอาจารย์แอน - ราชคฤห์ ตอนที่ ๑
28 ก.พ. 2559

 

เมื่อรถเราเข้าเขตแคว้นมคธ กรุงราชคฤห์ จะเห็นว่าภูมิประเทศมีความแตกต่างกันมากกับ พุทธคยา อุรุเวลาเสนานิคม เพราะจะมีลักษณะเป็นเมืองที่มีเขาโอบล้อม ทางเข้าเมืองเป็นเนินไต่ระดับ ถ้าพูดในลักษณะของทำเล นับเป็นชัยภูมิที่ดีมาก มีพลังของเขาที่มีลักษณดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสิคีรี ซึ่งเป็นภูเขาที่ยาวที่สุด และใหญ่ที่สุดเปรียบเหมือนมังกรใหญ่ที่พาดผ่านโอบล้อมทางเข้าเมือง

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์, อิสิคีรี

 

ราชคฤห์ เป็นเมืองที่มีเบญจคีรี คือ ภูเขา ๕ ลูก ที่ล้อมมหานครดุจกำแพงอันทรงพลัง ได้แก่ เวภาระ เวปุลละ บัณฑวะ คิชกูฏ และอิสิคิรี เป็นลักษณะปราการธรรมชาติที่พวกเราผู้แสวงบุญควรได้สังเกตได้ชม ราชคฤห์เป็นมหานคร เป็นเมืองหลวง จัดเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญ หนึ่งในหกนครของอินเดียโบราณ

 

ตามคัมภีร์พุทธวังสะ กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับจำพรรษาอยู่ที่นครราชคฤห์ ในพรรษาที่ ๓ ๔ ๗ และ ๒๐ ประทับที่เวฬุวันมหาวิหาร ที่เราจะได้ไปกัน ทรงแสดงธรรมและพระสูตร ทั้งอดีตนิทาน หรือที่เราเรียกว่า นิทานชาดก มากมาย นับเป็นการเริ่มปลูกฝังพระพุทธศาสนา และถือว่าเริ่มประกาศพระศาสนาเป็นแคว้นแรกในนครราชคฤห์แห่งนี้

 

ในปัจจุบันเมื่อเรามาถึงเมืองราชคฤห์ ก็คงได้ชี้ชวนกันชมประตูทางเข้าเมือง ซึ่งตรงนี้แหละ ในพุทธประวัติเล่าว่าเมื่อประตูเมืองปิด แม้พระเจ้าแผ่นดินก็สั่งให้เปิดไม่ได้ ข้อนี้คงเป็นกฏข้อบังคับที่เข็มงวดมากในสมัยนั้น จากเรื่องราวที่พระเจ้าพิมพิสารเสด็จอาบน้ำพุร้อนที่ตโปทาราม และรอคอยเหล่าภิกษุที่ลงอาบก่อน ทำให้พระองค์เสด็จกลับไม่ทันประตูพระนครปิด ต้องประทับรอถึงเช้าโดยประทับพักแรมที่เวฬุวนาราม

 

จากนั้นเราจะตรงขึ้นเขาคิชกูฏ แต่จะขอเล่าเรียงลำดับเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงเสด็จมาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อพวกเราจะได้จินตนาการระหว่างขึ้นเขา ซึ่งทางที่เราขึ้นเขานั้นก็เป็นเส้นทางเสด็จของพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่ครั้งโบราณ

 

พระพุทธองค์เสด็จถึงกรุงราชคฤห์ตามปฏิญญาที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสารก่อนตรัสรู้ ประทับ ณ ลัฏฐิวัน พร้อมด้วย ภิกษุชฏิล ๑๐๐๐ รูป

 

พระราชาพร้อมเหล่าราชบริพารออกมาเฝ้า พระพุทธองค์ทรงแสดง "มหานารทชาดก" และอริยสัจ ๔ โปรด พระราชาและราชบริพารส่วนใหญ่ได้บรรลุโสดาปัตติผล ที่เหลือก็ถึงพร้อมด้วย ไตรสรณคมน์ ขอแสดงตนเป็นอุบาสกในพุทธศาสนา

 

"มหานารทชาดก" เป็นหนึ่งในทศชาติ ที่รอการออกอากาศ แต่จะหาโอกาสเล่าให้ชาวคณะที่จะเดินทางฟังก่อน

 

พระเจ้าพิมพิสาร ทูลอาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปรับมหาทานในพระราชนิเวศน์

 

หลังจากเสร็จภัตกิจแล้ว พระเจ้าพิมพิสารถวาย เวฬุวนอุทยาน ให้เป็นพระอาราม นับเป็นอารามแห่งแรกในพุทธศาสนา

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์, เวฬุวัน

 

เราได้อ่านเรื่องราวและทำความเข้าใจไปก่อน ก็ใช้จินตนาการควบคู่ไปกับภูมิประเทศตามความจริงที่ได้เห็น เพราะเราคงใช้ใจดูมากกว่าจะใช้ตาดู ใช้ใจดู คือกลับไปสู่สองพันกว่าปี ถ้าใช้ตาดูก็จะเห็น ซากเมือง ฝุ่น และร่องรอยเท่านั้น แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า สถานที่นี้พระพุทธองค์ทรงเสด็จเกือบทุกหนทุกแห่งที่เราเดินผ่าน

 

ในวันต่อมา พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลเล่าถึงยามกลางคืนที่พระองค์นอนไม่หลับ เพราะได้ยินเสียงประหลาดน่าสพึงกลัว ไม่ทราบเสียงนั้นจะแสดงถึงเหตุร้ายอย่างไรที่จะเกิดขึ้นแก่พระองค์  พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุอันมีมาแต่หนหลังว่า นั่นเป็นเสียงญาติในอดีตของพระองค์ ที่ท่องเที่ยวไปถึงหนึ่งพุทธันดร เพื่อรอคอยให้พระองค์ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและอุทิศให้เขาบ้าง เวลานี้ เปรตเหล่านั้นพากันมาร้องขอส่วบุญ เพราะเมื่อวานนี้พระองค์บริจาคทานแล้ว ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ จึงส่งเสียงร้องเห็นปานนั้น

 

พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์รับการถวายทานอีกในวันรุ่งขึ้น เพื่ออุทิศทานให้แก่ญาติเหล่านั้น ซึ่งในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าพิมพิสารก็ได้มีโอกาสอุทิศโดย หลั่งน้ำทักษิโณทก และอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลายของเรา และในขณะนั้น สระโบกขรณีก็บังเกิดขึ้นแก่เปรตให้ได้อาบกิน ระงับความหิวกระหาย จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงอธิฐานให้พระราชาเห็นบรรดาญาติทั้งหมดว่ามีร่างกายอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใส สวมใส่พัสตราภรณ์อันเป็นของทิพย์ ด้วยอานิสงค์ของผลบุญที่พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศไปให้

 

คงสงสัยว่าทำอะไร อย่างไร ถึงเป็นเปรตได้ยาวนานขนาดนั้น ขอเล่าสั้นๆว่า สมัยพระพุทธเจ้านามว่า ปุสสะ ครั้งนั้นที่นครกาสี พระราชาทรงพระนามว่า ชัยเสน มเหสีนามว่า สิริมา ซึ่งเป็นอุปัฏฐากพระปุสสะพระพุทธเจ้าด้วยพระองค์เองตลอดมา ต่อมาพระราชโอรสทั้งสามออกปราบกบฏได้ชัยชนะ จึงทูลขอพรจากพระราชาขออุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเพียงสามเดือน เมื่อพระราชบิดาทรงอนุญาติ จึงพาบุรุษบริวารหนึ่งพันคนพากันสมาทานศีล ๑๐ นุ่งผ้ากาสาวะ รับสั่งขุนคลัง และสมุหบัญชีร่วมกันเบิกเสบียงตามวาระ จากเรือนคลังทั้งหลายของพระราชโอรสทั้งสาม ปรากฏว่ากรรมการผู้จัดการทั้งหลายต่างเบียดบังอาหารที่จะถวายแก่สงฆ์ กรรมการทั้งหมดจึงเข้าภูมิเปรต ในเวลาที่ผ่านมาได้เฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้าผ่านมาแล้วถึง ๓ พระองค์ จนถึงสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า เมื่อมหาปฐพีงอกสูงขึ้นประมาณ ๑ โยชน์ ในกาลนั้นญาติของพวกเจ้าจักเป็นพระราชานามว่า พิมพิสาร จะเป็นผู้ถวายทานแด่พระศาสดา แล้วจักอุทิศส่วนกุศลทานแก่พวกเจ้า ซึ่งคราวนั้นจะต้องรอเวลาอีกหนึ่งพุทธันดร

 

เรื่องนี้มีข้อควรคิด

 

ข้อแรก การเป็นเปรตนั้นเป็นได้ง่าย แต่พ้นกรรมนั้นยากหนักหนา ด้วยเวลาแผ่นดินที่เป็นที่ราบ งอกขึ้นเป็นภูเขาสูงหนึ่งโยชน์นั้นยาวนาน แถมญาติเราอาจลืมไม่ได้อุทิศส่วนกุศลอีก และบุญนั้นต้องถวายทานครบองค์สาม จึงจะได้ผลทันที ครบองค์สามนั้น อรรถกถากล่าวว่า "ทักษิณา" ย่อมสำเร็จผล คือ เกิดผลในขณะนั้นได้ ต้องเป็นทานที่ประกอบด้วยองค์สาม คือ

 

ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย

 

ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย

 

ด้วยการถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล

 

หมายความว่า ทาน นี้จะมีผลถึงผู้รับโดยสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อ เปรตต้องอนุโมทนาเอง และทายกคือผู้ให้ ต้องอุทิศตรง โดยเอ่ยชื่อผู้รับ และทานนั้นต้องถวายแด่ ทักขิไณยบุคคล มีโสดาปฏิผล เป็นต้น

 

อันนี้ผลแห่งทานจะ ปรากฏทันที อย่างเราอุทิศนั้น ครบองค์สามหรือเปล่า อาจครบองค์สอง คือ อุทิศตรง เปรตมาอนุโมทนา แต่ถ้าผู้รับทานนั้นไม่ใช่ทักขิไณยบุคคล ก็รอยาวนานกว่าทานนั้นจะให้ผล

 

ข้อที่สอง การอุทิศส่วนกุศลจะรับได้ มีเพียง ปรทัตตูปชีวาเปรต เท่านั้น เป็นเปรต เป็นผี ประเภทอื่นก็รับไม่ได้ เพราะพระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็มีมนุษย์สมบัติ เมื่อเสวยบุญเป็นเทวดา ก็มีสมบัติเทวดา ในภูมิต่างๆ แม้ในอบายภูมิ ต่างก็มีสมบัติตน มีความหมายว่า กรรมนั้นผูกพันธ์ไว้กับตน ไม่ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล ไม่อาจไปรับบุญที่อุทิศได้

 

เราทั้งหลายคงต้องตั้งใจให้อยู่ในกรอบที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนด้วยกรรมบถสิบ ใจต้องไม่ข้องในสิ่งที่เป็นอกุศล มีทาน คือการให้เป็นเบื้องตน เราให้ได้ทุกอย่าง ทั้งทรัพย์และความเมตตา ให้ด้วย กาย วาจา และใจ เพราะการให้ เป็นความปรารถนาที่เป็นกุศล เป็นการตั้งใจที่จะกระทำความดี ละเว้นจากความชั่วอันจะทำให้ใครเดือดร้อน และทำให้จิตใจผ่องใส มีที่พึ่งอันแน่นอน คือ พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ทั้งหลาย คือ พระรัตนตรัย

 

อย่างนี้เราจะไม่หลุดเข้าอบายภูมิ

 

เรื่องราวของเปรตพระญาติคงจะให้ข้อคิดแก่เรา และทำให้เราเห็นโทษภัยในวัฏฏสังสาร อันเป็นวิปัสสนญานข้อที่ ๓

 

จากประตูทางเข้าเมือง รถของเราคงจะวิ่งผ่านสถานที่ทั้งหมดที่ปรากฏในพุทธประวัติ ไม่ว่าจะเป็น พระราชวัง เวฬุวนาราม ตโปทาราม สถานที่ที่เป็นคุกที่พระเจ้าอชาติศัตรูขังพระเจ้าพิมพิสาร ตลอดจนวัดป่าสวนมะม่วง หรือ ที่เรียกว่า อัมพิการาม มุ่งตรงสู่เขาคิชฌกูฏ แล้วเดินขึ้นตามเส้นทางโบราณที่พระเจ้าพิมพิสารเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งเราจะได้ผ่านและเห็นสถานที่ที่สำคัญในพุทธศาสนา

 

 

สังเวชนียสถาน, พุทธคยา, ลุมพินี, กุสินารา, สารนาถ, ราชคฤห์

 

สมัยนั้น อุปติสสะ และโกลิตะ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักของ สญชัยปริพาชก ในกรุงราชคฤห์ และทำข้อตกลงไว้ว่า หากใครได้ค้นพบโมกขธรรมก่อน จะต้องมาบอกอีกผู้หนึ่งด้วย

 

เช้าวันหนึ่ง อุปติสสะ ได้เห็น ท่านพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์มีจริยาสำรวม ผิวพรรณบริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตร อุปติสสะจึงเข้าไปหา ไต่ถามด้วยความเคารพว่า "ผิวพรรณท่านผ่องใส ท่านบวชในสำนักใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร"

 

ท่านอัสสชิตอบว่า " พระมหาสมณศากยะบุตร ทรงออกผนวชจากศากยะตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น"

 

อุปติสสะ ถามว่า ศาสดาของท่าน สอนอย่างไร แนะนำอย่างไร

 

ท่านอัสสชิกล่าวว่า เราเป็นผู้บวชใหม่ เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ไม่นาน แต่สามารถแสดงธรรมโดยย่อได้ว่า

 

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้

(จากหนังสือ พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา ของ สุรีย์-วิเชียร มีผลกิจ)

 

ครั้งนั้น เมื่ออุปติสสะได้ฟังธรรมเพียงเท่านี้ เกิดความเข้าใจว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งเหล่านั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา"  มีดวงตาที่เห็นธรรม หลังจากนั้นก็รีบไปหาโกลิตะ เล่าทุกอย่างให้ฟังตามสัญญาที่ให้ไว้แก่กัน จากนั้นสองสหายจึงอำลาอาจารย์สญชัย แล้วรีบเดินทางไปพระวิหารเวฬุวันเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งในครั้งนั้น พระพุทธองค์เห็นสองสหายเดินมาแต่ไกล รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ต่อไปทั้งสองจะได้เป็นอัครสาวกของพระองค์

 

เมื่อสองสหายได้อุปสมบทในสำนักของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว อุปติสสะ ได้นามว่า สารีบุตร และโกลิตะ ได้นามว่า โมคคัลลานะ ตามตระกูลมารดา

 

เรื่องราวของสองอัครสาวก มีข้อน่าคิดสองประการ

 

๑. เมื่อได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ ทั้งสองสามารถมีดวงตาเห็นธรรม ทำไมเราอ่านตอนนี้ตั้งหลายรอบ ทำไมไม่เห็นธรรมบ้าง ขอตอบอย่างคนที่ไม่เห็นเหมือนกัน แต่ศึกษามาก อ่านมากว่า

 

ทั้งสองเป็นผู้ที่มีความปรารถนามาตั้งแต่อดีต เป็นแสนกัปที่จะมาเป็นอัครสาวกของพระพุทธองค์ ทั้งได้รับพุทธพยากรณ์มาแล้ว และการบำเพ็ญในแต่ละชาตินั้น ก็คู่เคียงมากับพระพุทธเจ้า เป็นญาติ เป็นสหาย เป็นกษัตริย์ที่คอยเตือนสติ และเป็นสหายร่วมบวชด้วยกัน เป็นศิษย์ เรียกได้ว่าอยู่ในสถานะต่างๆ ซึ่งเราสามารถติดตามหาอ่านได้ในนิทานชาดก และเคยออกอากาศไปก็หลายตอน ได้บำเพ็ญเพียร ได้ฟังธรรม ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ดังนั้น บารมีเต็มพร้อมๆกับพระพุทธเจ้า ที่จะได้มาเป็นอัครสาวก เมื่อฟังธรรมเพียงครั้งเดียวจากพระอรหันต์เถระเจ้าอัสสชิ ก็สามารถมีดวงตาที่เห็นธรรมโดยง่าย

 

แล้วเราล่ะ ฟังก็หลายรอบ แต่คราวนี้ ถ้าเราได้มาที่กรุงราชคฤห์ด้วยกัน ก็หวังว่าเราจะได้เข้าถึงพระธรรมดังที่พระโมคคัลานะและพระสารีบุตรได้เข้าถึงมาแล้ว เพราะเราก็ได้ยินได้ฟังมาก่อนเช่นกัน อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งที่กำลังอ่านอยู่ขณะนี้

 

๒. เมื่อผ่านข้อ ๑. แล้ว ก็จะไม่สงสัยข้อที่สองที่ว่า ทำไมพระพุทธองค์ทรงเห็นสองสหายมาแต่ไกล และตรัสว่า ทั้งสองจะมาเป็นอัครสาวกของพระองค์ ทั้งๆที่ไม่ได้บวชก่อนพระเถระท่านอื่นๆ และยังบรรลุอรหัตผลภายหลังปัจจวัคีย์ เหล่าชฏิล และบริวาร ตลอดจนยสกุลบุตร และสหายภัททวัคคีย์ อีก ๓๐ คน

 

เราคงจะเข้าใจถึงญานของพระพุทธเจ้า และไม่ควรสงสัยในญานของพระองค์ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึง เหตุที่มา การบำเพ็ญบารมี เมื่อถือกำเนิดในชาติปัจจุบัน สิ่งที่อธิฐานมาย่อมมีผล ไม่เลือกเวลาก่อนหลังใคร มีแต่คำว่า สมควรแก่กาล บางครั้งเมื่อเราพลันได้คิด พลันเข้าใจ นั่นก็คือ บารมีที่เราบำเพ็ญมา ได้มาถึงแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความหมายถึงว่า สมควรแก่กาล ด้วย

 

มีรายละเอียดของการไปลาอาจารย์สญชัยว่า ตอนแรก มานพสองสหายคิดชวนสญชัยผู้เป็นอาจารย์ไปด้วยกัน แต่อาจารย์สญชัยมีมานะว่า ได้เป็นคณาจารย์เจ้าลัทธิอยู่แล้ว จะกลับไปเป็นศิษย์ของผู้อื่นนั้นไม่ควร ในอรรถกถาอธิบายว่า สญชัยปริพาชกถามศิษย์ตนว่า ในโลกนี้มีคนฉลาดมากกว่า หรือคนโง่มากกว่า สองสหายตอบว่า คนโง่มีมากกว่า อาจารย์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้คนฉลาดไปหาพระพุทธเจ้า ให้คนโง่มาหาตนก็แล้วกัน

 

ศึกษาถึงตรงนี้ อยากจะมองอาจารย์สญชัยในแง่ดีว่า ขออาจารย์อยู่สอนคนปัญญาน้อยต่อไปให้มีปัญญามาก แล้วจะได้มีทั้ง สติ ปัญญา ฟังธรรมขั้นสูงของพระพุทธองค์ เพราะคนโง่เมื่อมีมากกว่า อาจารย์สญชัยก็ต้องมีงานล้นมือไม่มีเวลาไปไหน ถ้าติดตามไปพบกับพระศาสดาต้องทิ้งศิษย์ไป ใครจะดูแลศิษย์ตนล่ะ คิดได้อย่างนี้ ก็รู้สึกว่า สญชยปริพาชกคงไม่ใช่เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ และถ้ามีโอกาส หรือตัดใจทิ้งศิษย์ หรือนำศิษย์มาพบพระพุทธเจ้า อาจารย์คงได้บรรลุธรรมไปแล้ว ไม่รู้ว่าอาจารย์สญชยเวลานี้ไปเกิดอยู่ที่ไหน

 

ครั้งนั้น อุปติสสะและโกลิตะ พร้อมบริวาร๕๐๐ ได้บรรพชาในสำนักพระพุทธเจ้าด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งหมด และบริวารทั้ง ๕๐๐ เมื่อได้บำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

 

ท่านโกลิตะ ได้ฉายาว่า พระโมคคัลลานะ อุปสมบทได้เจ็ดวัน ไปทำความเพียรอยู่ที่หมู่บ้าน กัลลวาลมุตตคาม อุปสรรคของท่าน คือ เมื่อทำความเพียร อาการง่วงหงาวหาวนอนมักจะเกิดขึ้นเสมอ เป็นอุปสรรคของการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ได้แต่นั่งโงกง่วงอยู่ทุกครั้งที่เริ่มบำเพ็ญเพียร เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญานทัศนะ จึงเสด็จไปประทานโอวาทบอกอุบายแก้ง่วง สรุปได้เป็นข้อๆดังนี้

 

๑. พิจารณาถึงข้อธรรมตามที่ได้สดับมา หรือได้ยินมาแล้ว

๒. เมื่อพิจารณาข้อธรรมแล้ว ยังง่วงอยู่ ให้ท่องบ่นสาธยายธรรม เหมือนท่องบทสวดมนต์ เป็นสมาธิ

๓. เมื่อท่องบ่นแล้วยังง่วงอีก ให้ยอนช่องหูทั้งสองข้าง แล้วเอามือลูบตัว

๔. ยังง่วงอยู่ ให้ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างหน้าล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แล้วแหงนดูดาว

๕. แล้วยังง่วงอยู่อีก ให้ทำใจอย่าติดในโลกสัญญามีกลางวันกลางคืน ตั้งไว้ว่า ไม่มีกลางวันกลางคืน หรือ กลางวันกลางคืนมีแสงสว่างเท่าๆกัน

๖. เมื่อกำหนดแล้วยังง่วงอยู่ ให้เดินจงกรม สำรวมอินทรีย์ เคลื่อนไหวไปมา สำรวมจิตไม่ออกนอกตัว

๗. เมื่อถึงขั้นตอนนี้ยังไม่อาจระงับความง่วงไว้ได้อีก ให้ลงนอน ด้วยร่างกายต้องการพักผ่อน แต่ให้นอนด้วยสติ มีสติสัมปชัญญะในการนอนหลับและตื่น

 

จากนั้นทรงประทานโอวาท ให้ละการถือตัวตนเมื่อเข้าสู่ตระกูลบุคคลทั้งหลาย ไม่พูดให้คนแตกกัน ไม่เสวนาด้วยคฤหัส หรือคลุกคลีหมู่คณะ หมายถึงบรรพชิตด้วย จากนั้นทรงตรัสถึง การพิจารณาร่างกาย ที่ประชุมกันด้วยธาตุทั้ง ๖ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญานธาตุ ว่าธาตุเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจที่จะบังคับได้ ไม่ควรยึดมั่นด้วยตัณหาและทิฐิ ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระโมคคัลานะได้บรรลุอรหัตผลหลังจากอุปสมบทได้ ๗ วัน พระสูตรนี้เป็นทั้งโอวาท ทั้งวิปัสสนา

 

การบรรลุธรรมของพระโมคคัลลานะ ทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาว่า แม้ท่านอัครสาวก ก็ผ่านขั้นตอนดังที่เกิดกับเราเสมอๆ คือ อาการง่วงนอนขณะฟังธรรมหรือบำเพ็ญเพียร ถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน พระพุทธองค์จึงประทานโอวาทไว้แก่พระอัครสาวกคนสำคัญ สมควรที่เราจะน้อมนำมาปฏิบัติให้ครบถ้วนตามขั้นตอน โดยไม่ข้ามขั้นตอน คือพอง่วงก็นอนเลย ต้องผ่านการทำความเพียรเพื่อให้เกิดความเคยชินก่อน อย่างนี้จึงเรียกว่า การบำเพ็ญเพียร การปฏิบัติจึงจะสัมฤทธิ์ผล เมื่อสมาธิจิตนิ่งแล้ว ก็พิจารณาร่างกายตามแนวที่พระองค์ทรงประทานโอวาทไว้

 

หรือหากเรายังไม่มีสมาธิหรือง่วง ก็สามารถพิจารณาร่างกายในแนววิปัสสนญานตลอดเวลาที่นั่งอยู่ ก็เสมือนหนึ่งทำสมถภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน ก็จะเข้าถึงธรรมได้เช่นเดียวกัน ข้อสำคัญเราต้องมีสติกำหนดรู้ตลอดเวลาว่า ขณะนี้เราเกิดอารมณ์ใด แล้วพิจารณาอารมณ์นั้นว่าไม่เที่ยง และบังคับให้อยู่ในอารมณ์เดียว เริ่มเข้าข้อที่๑ จนถึงข้อที่ ๗ โดยลำดับ

 

นี่เป็นเรื่องของการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ภายใน ๗ วันของพระโมคคัลลานะ ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่เราได้มาเยือนและนอบน้อมทำสักการะ